“งบกำไรขาดทุน” คือ งบที่บ่งบอกถึงรายได้ รายจ่าย และกำไรของบริษัทในช่วงเวลาหนึ่ง วันนี้เราจะมาดูกันว่าเราจะวิเคราะห์งบกำไรขาดทุนได้ยังไง ต้องดูอะไรบ้าง
งบกำไรขาดทุนเป็นงบการเงิน 1 ใน 3 ชนิดหลัก คุณอาจสนใจ วิธีอ่านงบการเงินง่ายๆ สำหรับมือใหม่ ซึ่งเป็นภาพที่ใหญ่กว่า
นอกจากนี้ คนที่อยากหาโอกาสที่ดีที่สุดให้ตัวเอง ก็อาจศึกษาการลงทุนต่างประเทศ ผมมีบทความแนะนำวิธีลงทุนหุ้นต่างประเทศให้คุณแล้ว (คุณจะได้หุ้นฟรีมูลค่าถึง $1000 ด้วย)
เรามาเริ่มรู้จักงบกำไรขาดทุนกันดีกว่าครับ
งบกำไรขาดทุน บอกเราว่าปีนี้บริษัทมีกำไรเท่าไร
ถ้าคุณไปเปิดงบกำไรขาดทุนดู คุณจะเจอตัวเลขที่ละเอียดหลายบรรทัด แต่ทุกตัวจะเป็นหนึ่งใน 3 ข้อด้านล่างเสมอ…
- รายได้ = เงินที่บริษัทหาได้ โดนยังไม่คิดรายจ่าย
- รายจ่าย = ค่าใช้จ่ายที่บริษัทจ่ายไป
- กำไร = รายได้ – รายจ่าย
รายได้
รายได้จะอยู่ที่บรรทัดบนสุดของงบ บางบริษัทจะแบ่งย่อยให้เราเป็นรายได้หลายชนิด ซึ่งบ่งบอกว่าบริษัทหาเงินได้เท่าไรก่อนจะหักค่าใช้จ่าย รายได้จะมีอีกชื่อว่า “ยอดขาย”
รายจ่าย
รายจ่ายจะแบ่งย่อยหลายบรรทัดในงบกำไรขาดทุน แต่ละบรรทัดล้วนสำคัญ เพราะมันจะบอกว่าบริษัทมีรายจ่ายหนักไปทางด้านไหน โครงสร้างกำไรเป็นยังไง
กำไร
กำไรเองก็จะมีหลายตัว แต่ทุกตัวจะเกิดจากรายได้ที่อยู่บรรทัดบนสุดมาลบด้วยรายจ่ายชนิดต่างๆ เช่น
- กำไรขั้นต้น = รายได้ – ต้นทุนขาย
- กำไรก่อนหักภาษี = รายได้ – รายจ่ายทุกตัวยกเว้นภาษี
- กำไรสุทธิ = รายได้ – รายจ่ายทุกตัว → นี่คือกำไรตัวสำคัญที่สุดที่ทุกคนพูดถึงกัน ถ้าเราบอกว่า “บริษัทนี้มีกำไร xxx” เราจะหมายถึง “กำไรสุทธิ” นี่แหละครับ
กำไรของบริษัทจะสูงแค่ไหน ส่วนหนึ่งก็อยู่ที่วิธีลงบัญชีด้วย
บางครั้งบริษัทขายของแต่ยังไม่ได้เงิน บริษัทก็บันทึกเป็นรายได้เรียบร้อยแล้ว ทำให้หลายครั้งการวิเคราะห์งบกำไรขาดทุนอย่างเดียวยังมีช่องโหว่ นักลงทุนที่มีประสบการณ์จึงดูงบกระแสเงินสดเทียบ เพื่อให้เห็นรอบด้านเกี่ยวกับธุรกิจมากขึ้น
ดูตัวอย่างกันดีกว่า อันนี้เป็นงบกำไรขาดทุนของบรัษัทไทยออยล์ (TOP) ในปี 2017-2020 จากเว็บไซต์ investing.com นะครับ
เวลาเราอ่านงบกำไรขาดทุน ให้เราอ่านจากบนลงล่าง
ข้างบนสุดจะเริ่มจากรายได้รวมเสมอ ซึ่งในที่นี้เขาแบ่งย่อยให้เรา แต่ไม่ต้องสนใจตัวย่อย สนใจแค่รายได้รวมก็พอ ผมเขียนไว้เป็นตัว A สีฟ้า
- พอคุณเลื่อนลงมาข้างล่าง ก็จะเจอ “รายจ่าย” ชนิดต่างๆ ซึ่งผมเขียนไว้เป็นสีแดง
- นอกจากนี้ ระหว่างทางก็จะมี “รายได้เสริม” ซึ่งไม่ใช่รายได้หลักจากธุรกิจ ซึ่งผมเขียนด้วยสีฟ้า
- คุณจะเจอรายจ่ายสีแดงกับรายได้สีฟ้าปะปนกันไปเรื่อยๆ แล้วพอคุณเอารายได้มาบวกกัน หักด้วยรายจ่าย ก็จะเป็นกำไรชนิดต่างๆ ซึ่งผมวงกลมไว้เป็นสีเขียว
- กำไรจะมีอยู่หลายชนิด ขึ้นอยู่กับว่าคุณเลื่อนลงมาเยอะแค่ไหน จนในที่สุดคุณจะเจอ “กำไรสุทธิ” ซึ่งเป็นกำไรที่สำคัญสุด ตัวนี้เองจะเป็นกำไรของบริษัทที่เราพูดถึงกัน
ถ้าคุณเอา “กำไรสุทธิ” มาหารด้วย “จำนวนหุ้น” ก็จะเป็น “กำไรต่อหุ้น” เหมือนที่ผมวงกลมไว้เป็นสีเขียวล่างสุด
ไอ้สีส้มที่ผมวงเอาไว้ ก็คือค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการดำเนินงาน (ค่าใช้จ่ายทั้งหมด ยกเว้นดอกเบี้ยกับภาษี) ซึ่งก็คือ B+C นั่นเอง เขาเอามาคำนวณให้เราดูง่ายๆ แต่ในที่นี้เราดู B กับ C อยู่แล้ว จึงไม่ต้องสนใจค่ารวม
คุณจะเห็นว่า “งบกำไรขาดทุน” มันก็แค่เอา “รายได้” กับ “รายจ่าย” มาเรียงต่อกันจากบนลงล่าง แล้วว่างๆ ก็คิดหากำไรขั้นต่างๆ ให้เรา ขอแค่คุณเข้าใจตรงนี้ ก็จะเข้าใจงบกำไรขาดทุนครับ
ต้นทุนขาย vs ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร บ่งบอกโครงสร้างกำไร
ผมอยากให้คุณดูค่าใช้จ่ายสำคัญ 2 ตัว
- ต้นทุนขาย (COGS: Cost of Goods Sold) คือต้นทุนต่อหน่วย ยิ่งบริษัทขายของได้เยอะ ค่านี้จะยิ่งสูง แต่ถ้าบริษัทขายได้น้อย ค่านี้จะต่ำลง
- ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร (SG&A: Selling, General, and Administrative) ในที่นี้เว็บเขาแปลตรงตัวจากภาษาอังกฤษเป็น “ฝ่ายขาย/ทั่วไป/ธุรการ” แต่มันคือสิ่งเดียวกัน ค่านี้เป็นค่าใช้จ่ายคงที่ ต่อให้บริษัทขายของไม่ได้ ก็ยังต้องมีค่าใช้จ่ายตรงนี้อยู่
นึกภาพง่ายๆ ว่าบริษัทมีออฟฟิศอยู่ตึกนึงนะครับ บริษัทนี้ทำธุรกิจขายไก่ โดยซื้อไก่มาขายส่งร้านแม็คโคร
ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเน็ต ค่าแม่บ้าน ค่าเช่าตึก ค่าพนักงานทุกคนในตึก แผนกไอที ทีมการตลาด ทีมผู้บริหาร และทุกสิ่งที่อยู่ในตึก จะมาเป็น SG&A ซึ่งคงที่ ต้องจ่ายเท่ากันทุกเดือน
แต่นอกจากรายจ่ายในออฟฟิศ บริษัทจะมีต้นทุนค่าไก่ที่ซื้อมาเพื่อขายต่อ เรียกว่า “ต้นทุนขาย” (COGS) ยิ่งขายไก่ได้เยอะ ก็ต้องมีต้นทุน COGS เยอะด้วย
- ถ้าอยู่มาวันหนึ่ง บริษัทขายไก่ไม่ได้เลย เขาก็ยังต้องเปิดออฟฟิศ จ้างพนักงานในออฟฟิศต่อไป ทำให้ SG&A ไม่เปลี่ยน ยังเท่าเดิมอยู่อย่างนั้น
- แต่ถ้าบริษัทขายไก่ไม่ได้ เขาก็ไม่มีต้นทุน COGS เพราะค่าใช้จ่ายตรงนี้ขึ้นอยู่กับไก่ที่ขายได้
แต่ละบริษัท จะมีสัดส่วน COGS กับ SG&A ไม่เท่ากัน (เทียบกับรายได้) แล้วแต่ว่าเขาทำธุรกิจอย่างไร
สมมุติว่ามีบริษัท A และ B
บริษัท A มีรายได้ = 100 มี COGS = 80 และ SG&A = 10
บริษัท B มีรายได้ = 100 มี COGS = 50 และ SG&A = 40
ทั้งสองบริษัทจะมีกำไรเท่ากันใช่ไหมครับ? เอารายได้ไปลบรายจ่ายทั้งสองตัว จะเหลือกำไร 10 เหมือนกัน
แต่บริษัท A มีค่าใช้จ่ายหนักเป็น COGS ส่วน B ไปหนักตรง SG&A มากกว่า นั่นแสดงว่าโครงสร้างกำไรต่างกัน
บริษัท A ที่ “ต้นทุนขาย” (COGS) สูง แต่ SG&A ต่ำ จะ…
- เสถียร ไม่ขาดทุนง่ายๆ เพราะต้นทุนคงที่ต่ำ (SG&A ต่ำ) ขายได้นิดหน่อยก็พอจ่ายต้นทุนคงที่แล้ว
- เวลาโต จะโตช้า เพราะรายได้ที่เพิ่มขึ้นจะทำให้ต้นทุนขาย (COGS) เพิ่มตาม กำไรจึงโตไม่ทันรายได้
- เช่น ถ้ารายได้เพิ่มเป็น 2 เท่า บริษัท A จะมีรายได้ = 200 มี COGS = 160 และ SG&A = 10 → กำไร = 200 – 160 – 10 = 30
- ตัวอย่างเช่น บริษัทที่ทำธุรกิจซื้อมาขายไป ถ้าขายไม่ได้ก็ไม่มีค่าใช้จ่าย แต่พอขายได้มากขึ้น ก็ยิ่งต้องซื้อสินค้ามาสต็อกไว้มากขึ้น ทำให้ต้นทุนขายเพิ่มตาม
บริษัท B ที่ “ต้นทุนขาย” (COGS) ต่ำ แต่ SG&A สูง จะ…
- กำไรแกว่งแรง เพราะต้นทุนคงที่สูง (SG&A สูง) ถ้ายอดขายไม่สูง จะไม่ถึงจุดคุ้มทุน แต่พอเลยจุดคุ้มทุนแล้วจะทำกำไรได้ง่าย
- เวลาโต จะโตเร็ว เพราะถึงรายได้สูงขึ้นแต่ต้นทุนขาย (COGS) ไม่ค่อยเพิ่ม กำไรจึงโตเร็ว
- เช่น ถ้ารายได้เพิ่มเป็น 2 เท่า บริษัท B จะมีรายได้ = 200 มี COGS = 100 และ SG&A = 40 → กำไร = 200 – 100 – 40 = 60
- เช่น บริษัทซอฟต์แวร์ ถ้าบริษัทมีลูกค้าน้อย รายได้ก็จะไม่พอจ่ายค่าแรงโปรแกรมเมอร์ที่เงินเดือนสูงมาก แต่พอบริษัทถึงจุดคุ้มทุน ก็จะขายซอฟต์แแวร์ได้อีกนับล้านชุดโดยไม่มีต้นทุนเพิ่ม จึงทำกำไรได้เร็ว
สังเกตนะครับว่าตอนที่รายได้ 100 บริษัท A กับ B มีกำไรเท่ากัน แต่พอรายได้สูงขึ้นเป็น 200 บริษัท A จะกำไรโตช้า ทำให้ B มีกำไรเป็น 2 เท่าของ A เลยทีเดียว
ในทางกลับกัน ถ้าจู่ๆ เศรษฐกิจไม่ดี ยอดขายตก คราวนี้ A จะสบายกว่า เพราะเขามีค่าใช้จ่ายคงที่น้อย (SG&A ต่ำ) แต่ B จะแย่ เพราะเขามีค่าใช้จ่ายคงที่สูง (SG&A สูง)
แต่…ไม่ใช่แค่ดูงบการเงินแล้ววิเคราะห์หุ้นได้
อยากเลือกหุ้นถูกตัว วิเคราะห์ธุรกิจได้เฉียบขาด?
งบการเงินเป็นแค่จุดเริ่มต้นของการวิเคราะห์ธุรกิจ หุ้นบางตัวงบออกมาดี แต่ราคาลงไปเรื่อยๆ นั่นเพราะการลงทุนต้องมีมากกว่าดูงบการเงินเป็น บิงโกมีคอร์สสอนลงทุนที่จะคุณอาจสนใจ คอร์สนี้จะสอนคุณทุกเรื่องที่ต้องรู้ในการลงทุน ทั้งงบการเงิน การวิเคราะห์ธุรกิจ กลยุทธ์การลงทุน และวิธีมองภาพเศรษฐกิจ โดยเรียบจบลงทุนจริงได้เลย และจะร่นเวลาให้คุณลงทุนได้เก่งกาจอย่างรวดเร็ว
รู้จัก ค่าเสื่อมราคา และ ค่าตัดจำหน่าย
ค่าใช้จ่ายชนิดหนึ่งที่คุณควรรู้จักคือ ค่าเสื่อมราคา (Depreciation) และ ค่าตัดจำหน่าย (Amortization)
ขอเรียกสั้นๆ ว่า “ค่าเสื่อม” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร (SG&A)
ถ้าคุณซื้อรถมาคันนึง รถคันนี้จะยังไม่นับเป็นรายจ่ายของบริษัท เพราะคุณซื้อของมาเฉยๆ เหมือนคุณซื้อบ้าน ซึ่งยังไม่เป็นค่าใช้จ่าย คุณแค่ “เปลี่ยนรูปทรัพย์สิน” จากเงินเป็นรถ เป็นบ้าน
แต่พอคุณขับรถคันนี้เล่นสัก 5 ปี รถก็เก่า มูลค่าก็ลดลง เอาไปขายก็ไม่ได้ราคา
แสดงว่าใน 5 ปีที่ผ่านมา รถคันนี้เกิดความเสียหาย มูลค่าทรัพย์สิน (รถ) ที่คุณมีจึงลดลง
ในทางบัญชีจึงมีการบันทึก “ค่าเสื่อมราคา” ว่าระหว่างคุณขับรถไป รถก็เก่าลง ทรัพย์สินของคุณเสียหาย จึงต้องบันทึกค่าเสื่อมทุกปี
- ถ้าเป็นสิ่งที่จับต้องได้ เช่น รถ ที่ดิน โรงแรม โรงงาน เครื่องจักร เราจะเรียกว่า “ค่าเสื่อมราคา”
- ถ้าเป็นสิ่งที่จับต้องไม่ได้ เช่น สิทธิการเช่า ลิขสิทธิ์ เราจะเรียกว่า “ค่าตัดจำหน่าย”
ความพิเศษของค่าเสื่อมก็คือ ที่จริงเราจ่ายเงินไปหมดแล้ว แต่มาคิดเป็นค่าใช้จ่ายทีหลัง
คุณจ่ายเงินซื้อรถตั้งแต่ปีแรกแล้ว แต่ในปีแรกคุณยังไม่ได้มีค่าใช้จ่าย
พอปีถัดมา คุณไม่ได้จ่ายเงินแล้ว แต่ค่าใช้จ่าย (ค่าเสื่อม) โผล่ขึ้นมา
นั่นทำให้ค่าเสื่อมราคาไปบิดเบือนการวิเคราะห์ธุรกิจหลายๆ ชนิด
- บางครั้งโรงงานหักค่าเสื่อมราคามากเกินความจริง บัญชีอาจมองว่าโรงงานเดินได้ 15 ปี แต่ของจริงโรงงานเดินได้ 30 ปี ดังนั้นเราจะเห็นค่าใช้จ่ายทางบัญชีสูงจนกำไรทางบัญชีน้อยเกินจริง
- บางบริษัทหักค่าเสื่อมราคาเยอะ ทำให้กำไรสุทธิติดลบ แต่ที่จริงตัวธุรกิจมีกำไร ซึ่งเขาก็เอากำไรไปลงทุนใหม่ แล้วหักค่าเสื่อมไปเรื่อยๆ บริษัทจึงไม่มีกำไรทางบัญชีเสียที
- ต่อมาพอบริษัทหยุดลงทุน แล้วหัักค่าเสื่อมจนไม่เหลือให้หัก บัญชีจึงโชว์กำไรให้เห็นก้อนใหญ่
เวลาวิเคราะห์งบกำไรขาดทุน เราจึงต้องเข้าใจผลกระทบของค่าเสื่อมราคา เพื่อจะได้วิเคราะห์บริษัทได้ถูกต้อง
กำไรขั้นต้น กำไรสุทธิ EBIT และ EBITDA
เรื่องน่าปวดหัวของงบกำไรขาดทุนก็คือ มันมี “กำไร” หลายตัวจังเลย!!
ทั้งหมดเริ่มจากรายได้ แล้วพอเอารายได้ไปหักค่าใช้จ่ายชนิดต่างๆ ก็เรียก “กำไรนู่น” “กำไรนี่” “กำไรนั่น”
ทำไมเขาต้องทำแบบนี้ด้วยล่ะ?
สาเหตุก็คือ กำไรแต่ละตัวบ่งบอกจุดแข็งและจุดด้อยที่ต่างกันของบริษัท ดังนี้ครับ
กำไรขั้นต้น (Gross Profit) เป็นตัวที่เบสิคที่สุด ถ้าคุณซื้อไก่มา 100 แล้วขาย 120 กำไรขั้นต้นของคุณก็คือ 20
- กำไรขั้นต้น = รายได้ – ต้นทุนขาย
- มองอีกแง่ มันคือกำไรที่คิดต้นทุนแค่ตัวสินค้า ยังไม่ได้คิดค่าแรงของคุณ ไม่ได้คิดค่าจ้างพนักงาน ไม่ได้คิดค่าเช่าร้าน ฯลฯ
- เวลาดู ให้ดูเทียบรายได้/ยอดขาย ถ้ากำไรขั้นต้นสูง แสดงว่าบริษัทมี “ศักยภาพ” สูง พอบริษัทผ่านจุดคุ้มทุนแล้ว กำไรสุทธิจะโตได้เร็ว (เหมือนบริษัท A กับ B ที่เราดูกันมาแล้ว)
กำไร EBIT เป็นการคำนวณต่อจากกำไรขั้นต้น โดยเอากำไรขั้นต้นไปหักค่าใช้จ่ายอื่นๆ ยกเว้น ดอกเบี้ย+ภาษี ตามชื่อของมัน
- EBIT ย่อจาก Earnings before Interest and Taxes
- แปลไทยว่า “รายได้ก่อนหักดอกเบี้ยและภาษี”
- EBIT = กำไรขั้นต้น – ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร (SG&A) – รายได้อื่นทุกชนิดยกเว้นดอกเบี้ยและภาษี
- ปกติ SG&A จะเป็นค่าใช้จ่ายหลัก บางคนจึงไม่สนใจค่าใช้จ่ายตัวหลัง สรุปสูตรลัดว่า EBIT = กำไรขั้นต้น – SG&A
- หรือคำนวณย้อนกลับ EBITDA = กำไรสุทธิ + ดอกเบี้ย + ภาษี
- เอาไว้สำหรับดูกำไรจาก “ตัวธุรกิจ” โดยไม่สนปัจจัยทางการเงิน มักใช้เวลาเปรียบเทียบ 2 บริษัทคู่แข่ง ทำนองว่า ถ้าไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ย ใครกำไรสูงกว่า
กำไร EBITDA คล้าย EBIT แต่จะเอาค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายบวกกลับเข้าไป (เอา D กับ A บวกเข้าไป)
- EBITDA ย่อจาก Earnings before Interest, Taxes, Depreciation, and Amortization
- แปลไทยว่า “รายได้ก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย”
- EBITDA = EBIT + ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย
- หรือคำนวณย้อนกลับ EBIT = กำไรสุทธิ + ดอกเบี้ย + ภาษี + ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย
- กำไร EBITDA เหมือน EBIT แต่เราเอาค่าเสื่อมบวกกลับเข้าไป เป็นการลดค่าใช้จ่าย เพราะบางคนมองว่าค่าเสื่อมไม่ใช่เงินที่บริษัทจ่ายจริง จึงไม่คิด (ดังนั้น การจะใช้ EBIT หรือ EBITDA จึงขึ้นกับวิธีคิด ขึ้นกับคนมองพอสมควร บางคนนับค่าเสื่อม แต่บางคนไม่นับ)
กำไรสุทธิ (Net Profit) เป็นกำไรท้ายสุด หลังหักค่าใช้จ่ายทุกอย่างแล้ว
- กำไรสุทธิ = รายได้ – รายจ่ายทุกขนิด
- ถ้าเราพูดกันสั้นๆ ว่า “บริษัทนี้มีกำไร xxx” เราจะหมายถึงกำไรสุทธิตัวนี้
- บางคนมองว่ากำไรสุทธิไม่สะท้อนผลประกอบการที่แท้จริง ด้วยเหตุผลต่างๆ นานา (เช่น ไม่ควรคิดค่าเสื่อม ไม่ควรคิดดอกเบี้ย ฯลฯ) เขาจึงไปดู EBITDA, EBIT แทน อันนี้ขึ้นกับมุมมอง
เราจะใช้กำไรตัวไหนมาวิเคราะห์บริษัท ก็ขึ้นกับแนวทางการลงทุนของเรา
ถ้าคุณกำลังซื้อบริษัทที่ธุรกิจเสถียรแล้ว ก็อาจดูกำไรสุทธิตรงๆ ตามปกติ
ถ้าคุณจะซื้อหุ้นปันผล คุณอาจสนใจว่าบริษัทหาเงินสดได้มากเท่าไร แบบนี้ก็อาจดู EBITDA แทน (อ่านเทคนิคเลือกหุ้นปันผลเพิ่มเติม)
ถ้าคุณซื้อหุ้นสตาร์ทอัพหรือหุ้นเติบโตที่โตเร็วแต่ต้องลงทุนสูง คุณอาจไม่สนกำไรสุทธิ (บริษัทขาดทุนหนักอยู่แล้ว ดูไปก็ใช่ที่) แล้วไปดูกำไรขั้นต้นแทน เพราะถ้าคุณคิดว่าบริษัทจะมีรายได้สูงขึ้นอีก 10 เท่า ในอนาคต SG&A ก็จะเป็นรายจ่ายส่วนเล็กๆ จึงสนใจแค่กำไรขั้นต้นก็พอละ (ลองอ่านวิธีหุ้น 10 เด้งได้เลย)
มาร์จิ้น หรือ อัตรากำไร (Profit Margin)
เรารู้จักกำไรมาหลายชนิดแล้ว แต่การดูกำไรอย่างเดียวนั้นบอกอะไรไม่มากเกี่ยวกับตัวธุรกิจครับ เช่น
- บริษัท X มีรายได้ 100 มีกำไร 20
- บริษัท Y มีรายได้ 1000 มีกำไร 25
เราจะสรุปได้ไหมว่าบริษัท Y ดีกว่า X แน่ๆ เพราะมีกำไรสูงกว่า?
ตรงนี้ก็บอกได้ยาก เพราะ Y มีรายได้สูงกว่าตั้งเท่า 10 แต่กำไรสูงกว่านิดเดียว
- แสดงว่าตัวธุรกิจของ Y ทำกำไรได้ไม่สูงเท่า X
- ถ้าต่อไป X มียอดขายสูงขึ้น เขาอาจทำกำไรได้ดีกว่า Y ก็ได้
เวลาเราวิเคราะห์กำไร จึงต้องวิเคราะห์เทียบกับรายได้ เพื่อให้เราเห็นภาพธุรกิจที่ชัดเจนขึ้น เราเรียกสิ่งนี้ว่า อัตรากำไร (Profit Margin) ซึ่งภาษาอังกฤษเรียกว่า “มาร์จิ้น”
- อัตรากำไรขั้นต้น (Gross Profit Margin) = กำไรขั้นต้น/รายได้
- EBIT Margin = EBIT/รายได้
- EBITDA Margin = EBITDA/รายได้
- อัตรากำไรสุทธิ (Net Profit Margin) = กำไรสุทธิ/รายได้
เช่น ถ้าเราซื้อไก่มา 4000 บาท ขายได้ 5000 บาท
- กำไรขั้นต้น = 5000 – 4000 = 1000
- อัตรากำไรขั้นต้น = กำไรขั้นต้น/รายได้ = 1000/5000 = 20%
มีการใช้อัตรากำไรวิเคราะห์บริษัทกันหลากหลายแนวทาง แต่โดยทั่วไปแล้ว ตัวสำคัญที่คุณควรสนใจที่สุดคือ อัตรากำไรขั้นต้น (Gross Profit Margin)
บริษัทที่มีอัตรากำไรขั้นต้นสูงๆ จะโตเร็วกว่าบริษัทคู่แข่ง เพราะถ้ารายได้โตขึ้นเท่ากัน รายได้นั้นจะเปลี่ยนมาเป็นกำไรได้เยอะกว่า
อัตรากำไรขั้นต้นจึงบ่งบอกถึง “ศักยภาพ” ของธุรกิจ ว่าในอนาคตเขาจะไปได้ไกลแค่ไหน และเป็นตัวที่นักลงทุนส่วนใหญ่สนใจ
ส่วนอัตรากำไรชนิดอื่นๆ รู้ไว้ก็ดีครับ เผื่อมีใครพูดถึงเราจะได้เข้าใจ
เวลาเราดูอัตรากำไร ต้องดูเทียบกับคู่แข่งในธุรกิจเดียวกัน
โดยทั่วไป ยิ่งบริษัทมีอัตรากำไรสูง ก็ยิ่งดี (ไม่ว่าจะเป็นขั้นต้น สุทธิ EBIT หรือ EBITDA)
แต่ข้อควรระวังก็คือ คุณจะเปรียบเทียบข้ามธุรกิจไม่ได้ ต้องเปรียบเทียบกับคู่แข่งเท่านั้น
สมมุติว่าบริษัท A ทำร้านสะดวกซื้อ เขาซื้อขนมมา 9.5 บาท ขายได้ 10 บาท ก็จะมีอัตรากำไรขั้นต้น 5%
แต่บริษัท B เปิดร้ายขายเพชร ซื้อเพชรมา 100 ขายได้ 1000 เขาจะมีอัตรากำไรขั้นต้น 90%
ถามว่า A กับ B ใครเป็นธุรกิจที่ดีกว่า?
ตรงนี้เราไม่สามารถตอบได้โดยดูจากอัตรากำไรอย่างเดียวนะครับ เพราะเขาขายของคนละอย่าง จริงอยู่ที่ B ได้กำไรต่อชิ้นสูง แต่เขาอาจขายได้น้อย เดือนนึงขายเพชรได้ไม่กี่ชิ้น รวมแล้วอาจได้น้อยกว่า A ก็ได้
ดังนั้นเราห้ามเปรียบเทียบอัตรากำไรข้ามธุรกิจนะครับ
สรุป งบกำไรขาดทุนแบบไหนเรียกว่าดี
พอเรารู้เรื่องงบกำไรขาดทุนกันครบถ้วนแล้ว คุณคงมีคำถามว่า “สรุปต้องดูอะไร”
ผมจึงขอสรุปให้คุณดังนี้
- รายได้โตและสม่ำเสมอ ยิ่งโตเร็วยิ่งดี แต่ต้องระวังเรื่องความสม่ำเสมอด้วย ไม่ใช่ว่าบางปีรายได้สูง บางปีรายได้ต่ำ แบบนี้ไม่ดี
- กำไรสุทธิโตและสม่ำเสมอ ยิ่งโตเร็วยิ่งดี แต่ต้องระวังเรื่องความสม่ำเสมอด้วย ไม่ใช่ว่าบางปีกำไรสูง บางปีกำไรต่ำ แบบนี้ไม่ดี
- อัตรากำไรขั้นต้น (Gross Profit Margin) สูง แสดงว่าธุรกิจทำกำไรได้ดี
- อัตรากำไรขั้นต้น (Gross Profit Margin) ไม่ลด แสดงว่าธุรกิจรักษาความสามารถในการแข่งขันไว้ได้ (ถ้าเพิ่มจะยิ่งดี แต่ไม่จำเป็นต้องเพิ่มก็ได้)
- อัตรากำไรสุทธิ (Net Profit Margin) ไม่ลด แสดงว่าบริษัทคุมต้นทุนได้ดี
ถ้าบริษัทไหนมีครบทั้ง 5 ข้อ จะยอดเยี่ยมมาก
แต่ส่วนใหญ่แล้วบริษัทก็เหมือนคน ไม่มีใครสมบูรณ์แบบ เราจึงต้องชั่งน้ำหนักว่า ข้อดีของเขา ดีพอจะชดเชยข้อเสียหรือไม่
เช่น บริษัทอาจมีกำไรเติบโต แต่อัตรากำไรลดลง แบบนี้เราก็ต้องมาคิดว่า บริษัทเติบโตเร็วพอจะชดเชยการที่อัตรากำไรลดลงไหม
สุดท้าย งบกำไรขาดทุนเป็นงบการเงิน 1 ใน 3 ชนิด บางครังคุณดูกำไรอย่างเดียวอาจไม่เห็นภาพธุรกิจที่แท้จริง มีกลเม็ดที่บริษัทจะลงบัญชีว่ามีกำไร แต่ที่จริงไม่มีอยู่ด้วย
ส่วนคนที่อยากลงทุนเก่งเร็วๆ บิงโกมีคอร์สลงทุนดีๆ ซึ่งจะสอนวิธีลงทุนอย่างละเอียด โดยใช้เทคนิคของนักลงทุนชั้นนำทั่วโลกมาสอนคุณอย่างครบถ้วนสมบูรณ์ (สอนตั้งแต่พื้นฐานจนลงทุนเก่ง) ซึ่งจะช่วยให้คุณสร้างความมั่งคั่งไปได้ตลอดชีวิต
เริ่มต้นลงทุนหุ้นต่างประเทศเพื่อโอกาสที่ดีกว่า
ต้นไม่ที่ร่มรื่นย่อมเริ่มจากเมล็ดพันธุ์ที่ดี การลงทุนที่ดีจึงอยู่ในเศรษฐกิจที่มีการเจริญเติบโต มีนวัตกรรม และมี dynamics สูง
แต่ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยเติบโตช้าลงมาก คนไทยเกิดน้อยลง สังคมกำลังจะกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุ ใครที่มีความรู้เรื่องเศรษฐกิจจะพอรู้ว่า “มืดมน” นักลงทุนไทยจำนวนมาก โดยเฉพาะเซียนหุ้นที่เข้าใจเรื่องนี้ จึงเริ่มเลี่ยงไปลงทุนต่างประเทศกันมากขึ้น
ถ้าคุณอยากหาโอกาสที่ดีที่สุดให้ตัวเอง คุณเองก็อาจศึกษาการลงทุนต่างประเทศมากขึ้น แล้วคุณจะพบว่าโอกาสดีๆ มีอยู่มาก ผมมีบทความสอนวิธีลงทุนหุ้นอเมริกา หุ้นต่างประเทศให้คุณแล้ว (คุณจะได้หุ้นฟรีมูลค่าสูงสุด $1000 ด้วย)
สำหรับคนที่คิดว่าการลงทุนหุ้นต่างประเทศไกลตัวเกินไป อยากซื้อกองทุนให้เขาไปลงทุนหุ้นต่างประเทศแทนเรา นั่นก็เป็นทางเลือกที่ดีมากครับ แต่ก่อนหน้านั้น ผมแนะนำให้อ่าน ซื้อกองทุนต่างประเทศยังไง ให้กำไรมากขึ้น 100% ซึ่งผมเขียนไว้ให้คุณโดยเฉพาะเลยครับ
ไม่ใช่แค่ดูงบการเงินแล้ววิเคราะห์หุ้นได้
อยากเลือกหุ้นถูกตัว วิเคราะห์ธุรกิจได้เฉียบขาด?
ท้ายที่สุด งบการเงินก็เป็นแค่ส่วนหนึ่งของการวิเคราะห์หุ้น การลงทุนให้ประสบความสำเร็จ จำเป็นต้องมีความรู้มากกว่าการดูงบการเงินง่ายๆ ไม่กี่บรรทัด
บิงโกมีคอร์สสอนลงทุนที่คุณอาจจะสนใจ คอร์สนี้จะสอนคุณทุกเรื่องที่ต้องรู้ในการลงทุน ทั้งงบการเงิน การวิเคราะห์ธุรกิจ กลยุทธ์การลงทุน และวิธีมองภาพเศรษฐกิจ โดยออกแบบให้เหมือน “นักลงทุนระดับโลกมาสอนคุณเอง” เรียบจบลงทุนจริงได้เลย และจะร่นเวลาให้คุณลงทุนได้เก่งกาจอย่างรวดเร็ว