สรุปหนังสือ Indistractable เทคนิคทำงานแบบใจจดจ่อไม่มีว้าวุ่น

indistractable open

คุณมีทรัพย์สินอะไรที่หวงมากๆ ไหมครับ? คนเราต่างมีของรักของหวงกันทั้งนั้น ต่อให้มันจะเป็นแผ่นไวนิลหายาก พระเครื่องเก่าแก่ อัลบั้มภาพถ่ายครอบครัว หนังสือที่มีลายเซ็นนักเขียน ฯลฯ ก็ตาม เราดูแลรักษาสิ่งของเหล่านี้เป็นอย่างดี แต่มีสิ่งหนึ่งที่เรามักละเลยและปล่อยให้โดนขโมยไปอย่างง่ายดายอยู่ตลอดเวลา สิ่งนั้นก็คือ “เวลา” ถ้าคุณอยากได้เวลากลับคืนมา คุณไม่ควรพลาดหนังสือ Indistractable เล่มนี้ครับ

Indistractable เป็นผลงานหนังสือเล่มใหม่ของ เนียร์ อียาล (์Nir Eyal) นักเขียนชื่อดังที่หลายคนชื่นชอบจากหนังสือเรื่อง Hooked ในเล่ม Hooked เนียร์ใช้โมเดลวิเคราะห์พฤติกรรมของผู้บริโภคที่ติดผลิตภัณฑ์หนึ่งอย่างงอมแงมจนเป็นที่ถูกอกถูกใจของนักอ่านมาแล้วทั่วโลก แต่มาคราวนี้เนียร์จะมาเผยเทคนิคในมุมกลับว่า “เราจะพาตัวเองหลุดจากวังวนที่โลกแห่งอินเทอร์เน็ตและการทำงานล่อลวงเราไว้ได้อย่างไร?”

ใครขโมยเวลาคุณ? เขาใช้วิธีอะไรขโมยมันไป? แล้วคุณจะป้องกันเรื่องนี้ได้อย่างไร? เราลองมาติดตามเนื้อหาดีๆ จากหนังสือเล่มนี้ไปพร้อมกันเลยครับ

 

indistractable 03

ข้อคิดดีๆ จากหนังสือ Indistractable

  • เราไม่ควรยอมให้ใครมาขโมยเวลาของเราไปได้ ไม่ว่าจะเป็นหัวหน้า ตัวเอง หรือสมาร์ทโฟน แต่เราควรจัดการเวลาที่มีให้เกิดประโยชน์มากที่สุด
  • หนังสือเล่มนี้มีเทคนิคง่ายๆ หลายหัวข้อเกี่ยวกับการทำงานอย่างมีสมาธิไม่มีอาการว้าวุ้นใจมากมาย ซึ่งคุณสามารถนำไปปรับใช้ได้ทันที เช่น การใช้อีเมล การใช้สมาร์ทโฟน การเข้าประชุม เป็นต้น

 

indistractable 04
เวลาความสุขในครอบครัวที่คุณวางแผนไว้ คุณจะยอมให้ใครมา “ขโมย” มันง่ายๆ หรือไม่ครับ?

เราประมาทกันเกินไป

ครั้งหนึ่งผมวางแผนเอาไว้เสียดิบดีว่า “หลังเลิกงานเย็นนี้จะไปทานข้าวดูหนังกับแฟน” แต่พอใกล้เวลาเลิกงาน หัวหน้าก็เดินเข้ามาบอกกับผมว่า “เย็นนี้ ผมมีงานจะปรึกษาคุณหน่อยนะ”

ผมคิดว่าทุกคนคงเดาออกว่าเหตุการณ์หลังจากนั้นเป็นอย่างไร ใช่แล้วครับ ผมโทรไปเลื่อนนัดแฟนเป็นช่วงหัวค่ำแทน แต่มันไม่มีประโยชน์อะไรหรอกครับ เพราะกว่าผมจะฝ่าการจราจรแสนสาหัสออกไปเจอเธอ เวลาก็แทบจะไม่เหลือแล้ว

อีกเหตุการณ์หนึ่งเกิดขึ้นในช่วงวันหยุด ผมตั้งใจว่าจะอ่านหนังสือช่วงบ่ายๆ แล้วตอนเย็นๆ ค่อยออกไปหาซื้อกับข้าวเข้าบ้าน แต่เกมที่เล่นค้างไว้ก็สนุกจนลืมเวลา พอมานึกได้อีกทีผมก็คิดได้ว่า “ค่อยอ่านตอนหัวค่ำแทนแล้วกัน” จากนั้นผมก็เล่นเกมต่อไปเรื่อยๆ พอตกเย็นก็ค่อยออกจากบ้านไป

คุณคงเกิดคำถามว่า “ทำไมฉันต้องมานั่งอ่านเรื่องส่วนตัวของคนอื่นพรรค์นี้ด้วย?”

ผมเล่าเหตุการณ์ทั้งสองเรื่องนี้ เพราะมันคือเหตุการณ์ง่ายๆ ที่เกิดขึ้นบ่อยมากกับทุกคน และนี่คือเหตุการณ์ที่เนียร์บอกไว้ในหนังสือว่าคุณถูกขโมยเวลาไปเรียบร้อยแล้ว

อย่างในเหตุการณ์แรกที่ผมเล่าไป ผมรู้ดีว่าไม่มีใครอยากผิดนัดกับหัวหน้าหรอกครับ ต่อให้หัวหน้านัดในเวลาที่ไม่ควรจะนัดก็ตาม ผม “เกรงใจ” หัวหน้า ผมเลยไม่ยอมปฏิเสธเขาไปตรงๆ ตั้งแต่แรกว่า “คงไม่สะดวกครับ ตอนเย็นนี้ผมมีนัดแล้ว” ผมจึงยอมผิดนัดกับคนอื่นแทน หรือในเหตุการณ์ที่สอง ผมก็ผิดนัดกับตัวเองทั้งๆ ที่ตั้งใจแล้วว่าจะอ่านหนังสือ แต่พอผมเล่นเกมจนเพลิน ผมก็เลือก “เลื่อน” เวลาอ่านหนังสือออกไปก่อนแทน

เนียร์บอกว่า ถ้าคนเราโฟกัสอยู่กับงานหรือเป้าหมายที่ตั้งไว้ ไม่ยอมให้ใครหรือตัวเองมาขโมยเวลาไป เราจะมีชีวิตที่ “เลือกได้”

 

จงกำจัด “ตัวกระตุ้น” ต่างๆ ทิ้งไป

ตอนนี้คุณรู้แล้วว่าเวลาของคุณมีจุดรั่วไหลอยู่? ดังนั้นถ้าคุณอยากปิดรูรั่วนี้ คุณต้องเข้าใจก่อนว่าทำไมจิตใจคุณถึงว้าวุ่น ไม่สามารถโฟกัสอยู่กับงานหรือเป้าหมายได้สักที

ในหนังสือเรื่อง Hooked เนียร์อธิบายสาเหตุที่คนเราติดผลิตภัณฑ์หนึ่งอย่างงอมแงมด้วย Hook Model (สนพ.บิงโก สรุปสาระสำคัญจากหนังสือเรื่อง Hooked ไว้ให้คุณแล้วที่ลิงค์นี้ครับ) ซึ่ง 1 ในปัจจัยสำคัญที่ทำให้คุณถูกขโมยเวลาไปนั่นก็คือ “ตัวกระตุ้น” (Trigger) ซึ่งสามารถแบ่งย่อยออกไปได้อีกเป็น “ตัวกระตุ้นจากภายใน” และ “ตัวกระตุ้นจากภายนอก”

ตัวกระตุ้นจากภายใน เช่น ความรู้สึกนึกคิดของคุณ

สมมติว่าคุณรู้สึกเบื่อ คุณเลยเปิดเกมในสมาร์ทโฟนขึ้นมาเล่น นั่นแปลว่าคุณถูกตัวกระตุ้นจากภายในอย่าง “อารมณ์เบื่อ” กระตุ้นให้คุณเล่นเกม หรือจากเหตุการณ์เรื่องหัวหน้าเรียกคุยก่อนเลิกงานที่ผมเล่าไป ตัวกระตุ้นจากภายในก็คือ “ความเกรงใจ” กระตุ้นให้ผมไม่กล้าปฏิเสธหัวหน้าไป แต่กลับเลื่อนนัดแฟนของผมแทน

ตัวกระตุ้นจากภายนอก เช่น การแจ้งเตือนจากสมาร์ทโฟน

สมมติว่าในช่วงเช้าคุณกำลังเคลียร์งานให้เสร็จก่อนนำเข้าที่ประชุมช่วงบ่าย จู่ๆ คุณกลับเห็นข้อความจากแอพพลิเคชั่นไลน์เด้งเตือนขึ้นมาว่า “หนังสืออ่านนอกเวลาของลูกที่ฝากซื้ออยู่ไหนเหรอ?” คราวนี้แทนที่คุณจะรีบโฟกัสกับงานตรงหน้าให้เสร็จสมบูรณ์ คุณอาจเลือกเปิดสมาร์ทโฟนขึ้นมาแล้วไลน์ตอบกลับไปกลับมาอยู่สักพักหนึ่งแทน

อีกตัวอย่างหนึ่งที่เนียร์พูดถึงในหนังสือ Indistractable ก็คือ ความผิดพลาดในการจ่ายยาของเภสัชกร

เภสัชกรสาวคนหนึ่งมักจ่ายยาผิดพลาดเล็กๆ น้อยๆ เพราะเธอโดนคนไข้ชวนคุยขณะจัดยา ทางโรงพยาบาลจึงให้เธอสวมเสื้อสีสันแสบตาทับเพื่อสื่อความหมายทำนองว่า “ฉันปฏิบัติงานอยู่ อย่ารบกวน” ไม่น่าเชื่อว่าวิธีง่ายๆ แค่นี้กลับลดความผิดพลาดในการจ่ายยาของเธอไปได้เป็นปลิดทิ้ง

เนียร์ยังบอกอีกว่า ถึงตัวกระตุ้นจะมีทั้งจากภายในและภายนอก แต่สุดท้ายแล้วตัวกระตุ้นจากภายในจะมีผลกระทบกับคนเรามากที่สุด เพราะมันสามารถส่งผลไปถึงตัวกระตุ้นจากภายนอกได้ด้วย ยิ่งเราสามารถควบคุมและจัดการตัวกระตุ้นเหล่านี้ได้ เราก็จะมีสมาธิเพื่อโฟกัสอยู่กับงานและเป้าหมายได้ดียิ่งขึ้น

 

indistractable 05
การทำตารางเวลาไม่ใช่เรื่องยาก สิ่งที่ยากคือการจัดลำดับความสำคัญให้ดี

หยุดการถูกขโมยเวลาด้วย “การทำตารางเวลา”

วิธีที่เนียร์แนะนำให้ทุกคนทำเพื่อหยุดการโดนกระตุ้นให้ใจว้าวุ่นและฟุ้งซ่านจนขาดสมาธินั้นก็คือ “การทำตารางเวลา”

เนียร์ให้คุณลองกำหนดสิ่งที่อยากทำลงในตารางเวลาของตัวเอง จากนั้นก็ใช้ชีวิตไปตามตารางนั้น ง่ายๆ แค่นี้เองครับ แต่ในการจัดตารางเวลานั้นคุณต้องรู้จักการเรียงลำดับความสำคัญให้ดีๆ

คุณอาจคิดจะจัดตารางเวลาโดยให้ความสำคัญกับ “งาน” เป็นอันดับแรก แต่เนียร์ไม่แนะนำแบบนี้ครับ เขาบอกให้จัดตารางเวลาโดยให้ความสำคัญกับ “ครอบครัว” เป็นอันดับแรก งานสำคัญก็จริง แต่คุณจะจัดตารางโดยให้เวลากับงานก่อนแล้วถ้าเหลือเศษเวลาว่างๆ ค่อยแบ่งให้คนที่คุณรักจริงๆ เหรอครับ?

ในหนังสือเรื่อง “Productivity คิดแบบเยอรมัน ลงมือทำแบบญี่ปุ่น” ผู้เขียนเป็นคนญี่ปุ่นที่มีโอกาสไปทำงานที่ประเทศเยอรมันนานกว่า 20 ปี เขาบอกว่าคนเยอรมันนั้นมองว่า “ครอบครัวมาก่อนงาน” เสมอ ซึ่งเป็นแนวคิดที่คนญี่ปุ่นแบบเขาแปลกใจมาก คนเยอรมันเชื่อว่าถ้าครอบครัวมีความสุข ทุกคนก็พร้อมทุ่มเทให้กับการทำงาน ดังนั้นคนเยอรมันจึงชอบกลับบ้านตรงเวลาหลังเลิกงานเพื่อไปใช้เวลากับครอบครัวมาก

ผมเชื่อว่าคำแนะนำของเนียร์เป็นเรื่องทั่วไปที่คุณเองก็ทำตามได้อย่างแน่นอนครับ

 

indistractable 02
ทุกคนย่อมเคยเสียเวลามากโขในการจัดการอีเมลงานมากมายที่ไหลเข้ามา หนังสือเล่มนี้มีเทคนิคดีๆ มีแนะนำด้วยครับ

เทคนิคทำงานแบบใจจดจ่อไม่มีว้าวุ่น

ในหนังสือ Indistractable ยังมีเทคนิคดีๆ เกี่ยวกับการทำงานมาแนะนำคุณเพิ่มเติมด้วย ลองมาไล่เรียงกันไปทีละหัวข้อกันเลยครับ

 

อีเมล

หลายบริษัทมักให้พนักงานต้องเช็คอีเมลอยู่ตลอดเวลา เพราะไม่อยากให้การตอบอีเมลลูกค้าช้าแม้แต่นิดเดียว อีเมลจึงเป็นอีกหนึ่งตัวกระตุ้นจากภายนอกที่ดึงความสนใจและสมาธิของเราได้เป็นอย่างดี เนียร์เลยมีเทคนิคการใช้อีเมลมาแนะนำดังนี้

  • ส่งอีเมลให้น้อยลง เมื่อคุณส่งอีเมลน้อยลง อีเมลที่ตอบกลับมาก็จะน้อยลงตามไปด้วย
  • unsubscribe อีเมลต่างๆ ที่ไม่จำเป็น การสมัครรับอีเมลข่าวสารจากเว็บไซต์หรือแอพพลิเคชั่นต่างๆ เป็นเรื่องดี แต่ถ้ามันมากเกินไป คุณมีแต่จะต้องเสียเวลานั่งจัดการมัน แล้วคุณจะทำแบบนั้นทำไม เมื่อคุณคิดว่าไม่จำเป็นต้องรับอีเมลข่าวสารพวกนี้ก็แค่ยกเลิกไปบ้างเท่านั้นเอง
  • มีช่วงเวลาเช็คอีเมลประจำวัน เช่น คุณกำหนดให้ช่วง 10-11 โมงเช้าเป็นเวลาเช็คอีเมล คุณจะไม่กลับมาเช็คอีเมลอีกจนกว่าจะถึงวันถัดไป เป็นต้น

 

กรุ๊ปคุยงาน

ผมเชื่อว่าหลายคนต้องมีกรุ๊ปคุยงานผ่านแอพพลิเคชั่นต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นไลน์ หรือแมสเซนเจอร์ ปัญหาใหญ่ที่หลายคนต้องเจอก็คือ “การคุยงานแล้วไม่ได้งาน” อารมณ์ว่าทุกคนกำลังคุยงานอยู่ จู่ๆ ก็มีบางคนเผลอคุยเล่นแทรกขึ้นมา เนียร์จึงมีคำแนะนำดังต่อไปนี้

  • คิดว่ากรุ๊ปคุยงานเป็นห้องซาวน่า ทุกคนต้องรีบเข้ามาคุยๆๆ ให้จบแล้วก็แยกย้ายกันออกไป อย่าอยู่นาน หรือไม่ก็เปลี่ยนเป็นนัดเวลาให้ชัดเจนว่าจะคุยงานกันตอนกี่โมง
  • เปลี่ยนไปใช้แอพพลิเคชั่นอื่นที่เหมาะสม ไลน์อาจเหมาะกับการคุยเล่นมากกว่าคุยงาน ดังนั้นคุณอาจลองเปลี่ยนเป็นแอพพลิเคชั่นอื่นที่ออกแบบมาสำหรับการทำงานโดยเฉพาะ เช่น Slack เป็นต้น

 

การประชุม

ทุกคนต้องเคยผ่านประสบการณ์เข้าประชุมแบบงงๆ ไม่รู้แม้กระทั่งหัวข้อที่จะพูดคุย หรือประชุมกันนานแต่กลับไม่ได้ข้อสรุปอะไรเสียที เนียร์มีคำแนะนำเกี่ยวกับการประชุมดังนี้

  • ส่งหัวข้อการประชุมก่อนทุกครั้ง ก่อนจะเริ่มประชุม คนที่รับผิดชอบการประชุมควรต้องส่งวัตถุประสงค์และหัวข้อที่จะพูดคุยกันก่อนทุกครั้ง ทุกคนก็จะรู้หัวข้อและมีเวลาเตรียมตัวก่อนเข้าประชุมด้วย
  • ไม่นำสมาร์ทโฟนเข้าห้องประชุม ต่อให้การประชุมจะน่าเบื่อแค่ไหน ก็ไม่ควรมีใครหยิบสมาร์ทโฟนขึ้นมาเล่น เพราะนอกจากเขาจะเสียสมาธิแล้วยังอาจทำให้คนรอบข้างเสียสมาธิตามไปด้วย

 

สมาร์ทโฟน

ทุกวันนี้เราเสพติดการใช้สมาร์ทโฟนมากขึ้นเรื่อยๆ ถ้าคุณไม่อยากให้สมาร์ทโฟนรบกวนเวลาทำงานหรือเวลาทำกิจกรรมอื่นๆ ของคุณ เนียร์มีคำแนะนำดีๆ ดังนี้

  • ลบแอพพลิเคชั่นทิ้งไปบ้าง แอพพลิเคชั่นไหนไม่จำเป็น ก็ให้คุณลบทิ้งได้เลย คุณจะได้ไม่โดนมันขโมยเวลาไปอีก
  • เลือกใช้เฉพาะแอพพลิเคชั่นที่มีประโยชน์กับคุณ เช่น คุณชอบฟังพอดแคสต์ระหว่างการเดินทาง ก็ให้คุณเลือกเก็บแอพลิเคชั่นอย่างสปอติฟายหรือซาวน์คลาวด์เอาไว้ ส่วนแอพพลิเคชั่นใช้งานอื่นๆ จำพวกสั่งของออนไลน์ โมบาย แบงก์กิ้ง ก็ให้คุณจัดระเบียบมันเป็นกลุ่มอยู่ในหน้าแรกเพื่อความสะดวกเวลาใช้งานมากที่สุด
  • ปิดการแจ้งเตือน การแจ้งเตือนบางอย่างรบกวนจิตใจเราให้ว้าวุ่น เนียร์จึงแนะนำให้คุณเข้าไปปิดมันเสีย

 

indistractable 01

สรุปสุดท้ายก่อนวางหนังสือ Indistractable

ผมยอมรับว่ารู้สึกแปลกใจเล็กน้อยที่เนียร์ซึ่งเคยเขียนหนังสือวิเคราะห์อาการติดงอมแงมในเล่ม Hooked กลับมาเขียนหนังสือที่ช่วยให้คนเลิกอาการติดงอมแงมในเล่มนี้แทน แต่สุดท้ายก็ต้องยอมรับว่าถ้าจะมีนักเขียนสักคนที่เข้าใจพฤติกรรมเหล่านี้เป็นอย่างดี หนึ่งในนั้นต้องมีสุดยอดผู้เชี่ยวชาญอย่าง เนียร์ อียาล อย่างแน่นอน

หนังสือเล่มนี้ช่วยเตือนสติเราดังๆ ว่า “เวลาของเราสำคัญขนาดไหน” และ “เราไม่ควรปล่อยให้อะไรก็ตามมาขโมยเวลาไปได้ง่ายๆ อีกต่อไป” เทคนิคต่างๆ ที่หนังสือเล่มนี้รวรวบรวมไว้จึงเป็นเหมือน “ทักษะบริหารเวลาในโลกการทำงานแบบดิจิตอล” ไม่แน่ว่าอีกไม่นาน ทักษะนี้อาจกลายเป็นอีกหนึ่งทักษะสำคัญที่วัยทำงานทุกคนควรมีติดตัวก็เป็นได้

เนียร์ อียาล ยังมีส่วนเสริมของหนังสือเล่มนี้ให้คุณโหลดเพิ่มกันด้วยครับ ถ้าคุณสนใจสามารถตามโหลดได้ที่เว็บไซต์ส่วนตัวของเนียร์เลย

 

หนังสืออื่นที่คุณอาจสนใจ

เราหลายคนถูกสอนมาให้ “เก่งทางเดียว” แล้วเก่งด้านนั้นให้สุดทางไปเลย

วิธีคิดแบบนี้ใช้ได้ผลในสมัยก่อนที่คนเก่งมีน้อย แต่โลกเรากำลังเปลี่ยนไป สมัยนี้คนเก่งเกลื่อนจนแทบจะเดินชนกัน ต่อให้คุณทำอะไรได้ ก็จะมีอีกเป็นหมื่นคนและ AI ที่ทำได้เหมือนคุณ

หนังสือวิถีผู้ชนะฉบับคนเก่งแบบเป็ด จะสอนให้คุณเป็น “เป็ด” ที่เก่งรอบด้าน และสามารถนำทักษะที่หลากหลายมาใช้ ให้ก้าวหน้าในงาน ชีวิต และธุรกิจ

คนส่วนใหญ่ชอบศึกษาหาข้อมูล วางแผนให้ดีก่อนลงมือทำ …แต่นั่นทำให้พวกเขาไม่พร้อมสักที จนไม่ได้ทำอะไรเลย!

ในหนังสือคนชนะทำแล้วแก้ คนแพ้มัวแต่คิดไม่ได้ทำ เขาจะสอนเทคนิค “ทำไปก่อนเดี๋ยวดีเอง” ให้คุณสร้างผลงานที่ยอดเยี่ยมขึ้น จำนวนมากขึ้น ในเวลาที่สั้นลง

ทั้งเรียนหนังสือ ทำงาน บริหารเงิน สร้างคอนเน็คชั่น และนำเสนอตัวเอง คุณสามารถนำแนวทางนี้มาใช้พัฒนาชีวิตในทุกแง่มุม

หนังสืออื่นๆ ที่คุณอาจชอบไม่แพ้ Indistractable

  • หนังสืออีกเล่มที่แนะนำการใช้ชีวิตติดจอให้มีความสุข นั่นก็คือ Digital Minimalism ของคาล นิวพอร์ท คาลได้นำปรัชญามินิมอลมาปรับใช้กับชีวิตดิจิตอลได้อย่างน่าสนใจ สนพ.บิงโกได้ทำสรุปเนื้อหาจากหนังสือเล่มนี้ไว้ให้คุณเรียบร้อยครับ
  • ถ้าคุณสนใจเพิ่ม Productivity ในการทำงาน นอกจากหนังสือเล่มนี้แล้ว สนพ.บิงโก ขอแนะนำหนังสือ “Productivity คิดแบบเยอรมัน ลงมือทำแบบญี่ปุ่น” ซึ่งผสานสไตล์การทำงานและการใช้ชีวิตจากคนทั้งสองชาติไว้ด้วยกัน
  • เล่มสุดท้ายที่ สนพ.บิงโกอยากแนะนำก็คือ “5 ทักษะการคิดฉบับญี่ปุ่น ฉลาดแบบไม่ต้องพึ่งใคร” หนังสือจากอดีตเด็กหลังห้องที่สอบตกซ้ำซาก แต่พัฒนาตัวเองจนกลายเป็น CEO บริษัทที่ปรึกษาชื่อดังในญี่ปุ่น เมื่อคุณอ่านจบแล้ว คุณจะพบว่า “การคิดเป็นทักษะที่ควรมีติดตัวอย่างยิ่ง”

 

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *

เราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพ และประสบการณ์ที่ดีในการใช้เว็บไซต์ของคุณ คุณสามารถศึกษารายละเอียดได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว

ตั้งค่าความเป็นส่วนตัว

คุณสามารถเลือกการตั้งค่าคุกกี้โดยเปิด/ปิด คุกกี้ในแต่ละประเภทได้ตามความต้องการ ยกเว้น คุกกี้ที่จำเป็น

ยอมรับทั้งหมด
จัดการความเป็นส่วนตัว
  • คุกกี้ที่จำเป็น
    เปิดใช้งานตลอด

    ประเภทของคุกกี้มีความจำเป็นสำหรับการทำงานของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถใช้ได้อย่างเป็นปกติ และเข้าชมเว็บไซต์ คุณไม่สามารถปิดการทำงานของคุกกี้นี้ในระบบเว็บไซต์ของเราได้

  • คุกกี้สำหรับการวิเคราะห์

    คุกกี้นี้เป็นการเก็บข้อมูลสาธารณะ สำหรับการวิเคราะห์ และเก็บสถิติการใช้งานเว็บภายในเว็บไซต์เท่านั้น ไม่ได้เก็บข้อมูลส่วนตัวที่ไม่เป็นสาธารณะใดๆ ของผู้ใช้งาน

บันทึก