ผมอยากให้คุณผู้อ่านลองนึกถึงทุกสิ่งที่คุณต้องทำในวันนี้ วันพรุ่งนี้ วันมะรืน วันถัดไป วันถัดไปอีก และในสัปดาห์หน้า คิดตอนนี้เดี๋ยวนี้เลยครับ คุณจดบันทึกทุกอย่างที่ต้องทำไว้ที่ไหนสักแห่งหรือเปล่า? ถ้ายังไม่มี แสดงว่าคุณคลิกเข้ามาเจอบทความที่ใช่แล้วล่ะครับ วิธีทำงานให้ได้ผลลัพธ์ยอดเยี่ยมและเสร็จทันกำหนด หรือ Getting Things Done!!
ตอนนี้คุณอยู่ชมรมเดียวกับผมครับ ชมรมของคนที่ชอบพูด (บ่น) ว่า “หูย งานเยอะเกิน แต่มีเวลากระจึ๋ง” แล้วเราก็จะรู้สึกสูญเสียการควบคุมและการจัดระเบียบในชีวิตไปโดยอัตโนมัติ
David Allen เป็นที่ปรึกษาและโค้ชด้านการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้กับผู้บริหารชั้นนำมากมายในอเมริกามากว่า 30 ปี เขียนในหนังสือ Getting Things Done เพื่อยืนยันว่า “มันเป็นไปได้” ครับ
คุณจะได้เรียนรู้สองสิ่งสำคัญในบทความนี้
- วิธีการรวบรวมทุกสิ่งที่คุณจำเป็นต้องทำให้เสร็จ (ทั้งในปัจจุบันและในอนาคต)
- วิธีสร้างระเบียบวินัยให้ตัวเอง ไม่ว่าจะต้องเผชิญกับอุปสรรคใดๆ ก็ตามที่เข้าในชีวิต
หลังอ่านบทความนี้จบ คุณจะจากไปพร้อมกับระบบจัดการชีวิตที่ประเมินค่าไม่ได้ ฉะนั้นเตรียมตัวให้พร้อมที่จะเรียนรู้ 5 ขั้นตอนสู่การเปลี่ยนสิ่งที่ดูเหมือนเป็นไปไม่ได้ให้เป็นไปได้กันเถอะครับ!
รวบรวม
ขั้นตอนแรกคือ รวบรวมข้อมูลทุกอย่างเกี่ยวกับสิ่งที่คุณต้องทำในชีวิตนี้ แล้วเอาทุกสิ่งออกจากสมอง เลิกใช้สมองในการจำทุกสิ่งในชีวิต นำข้อมูลทั้งหมดไปเก็บไว้ในระบบที่เชื่อถือได้ หัวสมองของคุณมีไว้คิดและประมวลผลเรื่องงานเท่านั้น ผมขอเรียกสถานที่นี้ว่า “ถัง” คุณต้องรวบรวมเฉพาะงานที่ยังทำ “ไม่เสร็จ” เท่านั้น อย่าเพิ่งตัดสินใจว่า “จะทำอะไรกับงานนั้นหรือไม่” ในตอนนี้ แค่นำทั้งหมดไปกองไว้สักแห่งก่อน แล้วค่อยกลับมาจัดการภายหลัง
กล่องอีเมลขาเข้าของคุณคือตัวอย่างของ “ถัง” (คุณแทบไม่ต้องใช้แรงสร้างกล่องอีเมลนี้เลย เพราะคนอื่นจะส่งภาระมาที่ถังให้คุณอยู่แล้ว) แล้วสิ่งอื่นๆ ที่ทำหน้าที่เป็น “ถัง” สำหรับคุณมีอะไรอีกบ้าง?
- กล่องกระดาษสี่เหลี่ยมที่คุณทำขึ้นเอง
- ปึกกระดาษโน้ตจดบันทึก
- เครื่องจดโน้ตอิเล็กทรอนิกส์ เช่น tablet หรือ iPad
- เครื่องบันทึกเสียง
- อื่นๆ ลองหาไอเดียใหม่ๆ เองได้เต็มที่เลยครับ
ขั้นตอน “รวบรวม” มีกฏเหล็ก 3 ข้อ
- รีดเค้นงานที่ค้างคาหรือยังทำไม่เสร็จทุกงานให้ออกจากหัวสมองให้หมด
- ลดจำนวน “ถัง” เก็บข้อมูลให้เหลือน้อยสุดเท่าที่ทำได้ เอาแค่ถังที่คุณใช้บ่อยๆ เท่านั้น
- เคลียร์สิ่งที่อยู่ใน “ถัง” ให้ว่างทุกวัน
โดยส่วนตัวแล้ว ผมใช้อีเมลและโปรแกรมซอฟต์แวร์การจัดการที่ชื่อว่า Asana เป็น “ถัง” ส่วนตัวครับ ช่วงแรกผมต้องเรียนรู้และปรับนิสัยเพื่อใช้ Asana แต่พอชินแล้วทุกอย่างจะง่ายขี้น
ประมวลผล
ขั้นตอนถัดไปคือการประมวลผลข้อมูล สิ่งที่คุณต้องทำในขั้นตอนนี้คือ ทำให้งานในถังนี้เหลือศูนย์ คุณไม่จำเป็นต้องจัดการงานทั้งหมดในขั้นตอนนี้ แต่ต้องมีพื้นที่เหมาะๆ สำหรับเก็บมันไว้
ถามตัวเองก่อนว่า “งานเหล่านั้นคืออะไร?” จากนั้นค่อยพิจารณาว่า “เราทำอะไรกับมันได้หรือเปล่า?”
ถ้าคำตอบคือ ไม่ได้ คุณมี 3 ทางเลือก
- โยนใส่ถังขยะ กำจัดทิ้งไปเลย
- เอาไปเก็บที่ลิสต์ Someday/Maybe งานนั้นอาจยังไม่จำเป็นต้องเข้าไปยุ่งในตอนนี้ แต่ต้องทำในอนาคต ถ้าเป็นอย่างนั้นก็ให้เก็บไว้ใน ลิสต์ Someday/Maybe แล้วตั้งการแจ้งเตือนให้ตัวเองมาเช็คทีหลัง
- เก็บไว้ใน กองอ้างอิง (Reference) งานนี้อาจจะเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์ในอนาคต ให้เก็บไว้ที่กองอ้างอิงเผื่อใช้วันหน้า
ถ้าคำตอบคือ ได้ คุณต้องคิด 2 เรื่อง
- มันเป็นส่วนหนึ่งของ Project ที่ทำอยู่หรือไม่?
- ถ้าใช่ ก็นำไปเก็บใน ลิสต์ Project เช่น ถ้าคุณกำลังวางแผนงานเลี้ยงบุคลากรเกษียณอายุ และคุณเพิ่งได้รับโทรศัพท์จากบริษัทจัดเลี้ยงแห่งหนึ่งที่มาเสนอสถานที่ คุณก็นำข้อมูลนั้นมาใส่ไว้ในลิสต์ Project
- ถ้าไม่ใช่ ก็นำไปใส่ใน ลิสต์ Next Action
- Next Action ของงานนั้นคืออะไร? คุณต้องทำอะไรต่อกับงานนั้น เช่น Next Action ของงานเลี้ยงบุคลากรเกษียณอายุ คือ “เสนอแผนงานให้กับลุงตู่และรอการอนุมัติ”
เมื่อตัดสินใจดำเนินการต่อไปแล้ว คุณมีทางเลือก 3 ทาง
- ทำเดี๋ยวนี้ ถ้างานนั้นใช้เวลาน้อยกว่า 2 นาที
- มอบหมาย ให้คนอื่นทำแทน
- เลื่อนออกไป หากเป็นสิ่งที่ไม่สามารถทำได้ในขณะนี้ หรือใช้เวลานานกว่า 2 นาที
จัดระเบียบ
ถึงเวลาที่คุณต้องจัดระบบ ใส่ทุกอย่างลงไปในที่ที่เหมาะสม ถ้าคุณไม่ได้ใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ช่วยจัดระเบียบ คุณก็ควรมีกล่องเก็บข้อมูลแยกสำหรับงานแต่ละประเภท
- สำหรับงานที่ดำเนินการไม่ได้ ให้นำไปใส่ใน ถังขยะ, ลิสต์ Someday/Maybe หรือไม่ก็ กองอ้างอิง (Reference)
- สำหรับงานที่ดำเนินการได้ งานไหนใช้เวลาน้อยกว่า 2 นาทีให้ ทำทันที งานไหนมอบหมายให้คนอื่นได้ให้เก็บไว้ใน ลิสต์ Waiting For อย่าลืมตั้งการแจ้งเตือนให้ติดตามภายหลังนะครับ งานนอกเหนือจากนี้คุณต้องหาช่องอื่นใส่ ลิสต์ Project หรือ ลิสต์ Next Action หรือไม่ก็ ปฏิทิน
Project (โครงการ)
ผู้เขียนให้ความหมาย Project หรือ โครงการไว้ว่าสิ่งที่ต้องอาศัยการดำเนินการมากกว่า 1 ขั้นตอน คุณอาจเก็บข้อมูลเช่น แผนการ เอกสารประกอบ ไว้ในลิสต์นี้ด้วยก็ได้ เพราะมันง่ายกว่าไปค้นในกองอ้างอิง คุณจะพบว่าตัวเองเป็นเจ้าของโครงการมากมาย นี่ไม่ใช่เรื่องแปลกนะครับ โครงการที่ว่านี่เป็นไปได้ตั้งแต่เขียนหนังสือเล่มใหม่จนถึงทำความสะอาดสวนเลยทีเดียว
โครงการที่ผมกำลังพูดถึงนี่ต้องเป็นสิ่งที่ต้องใช้เวลาพอตัว คุณจึงทำโครงการได้เพียงทีละขั้นตอนเท่านั้น ระบุขั้นตอนของแต่ละโครงการให้ได้ ขั้นตอนไหนที่ดูซับซ้อนหรือยุ่งยาก ให้แบ่งขั้นตอนนั้นออกมาเป็นงานเล็กๆ แล้วถามตัวเองอีกครั้งว่า “ทำอะไรกับมันได้บ้าง?”
Next Actions
Next Action ที่ต้องทำในวันและเวลาที่เฉพาะเจาะจง (เช่น นัดหมอฟัน ซื้อของวันเกิดเพื่อน) ควรถูกบันทึกไว้ในปฏิทิน ผมไม่เห็นด้วยกับการใส่ทุกสิ่งทุกอย่างลงในปฏิทินเพราะมันจะทำให้ดูรกและมั่วซั่ว จงใส่แค่งานที่ทำเสร็จภายในวันเดียวได้ลงในปฏิทิน ถ้ายากหรือใช้เวลานานก็อย่าเสียเวลาไปเขียนใส่ให้เลอะเทอะเลยครับ
Next Action อื่นๆ ควรจัดวางไว้ใน ลิสต์ Next Action หากคุณมี Project และ Next Action จำนวนมากที่ต้องติดตาม ก็ควรสร้างลิสต์ส่วนตัวแยกต่างหาก จะได้ไม่รู้สึกท้อแท้กับงานกองมหึมา
คุณต้องทำงานใน ลิสต์ Next Action ทันทีเมื่อทำได้ ผมจะอธิบายวิธีเลือกงานใน ลิสต์ Next Action เพิ่มเติม ตามไปดูในหัวข้อถัดไปกันนะครับ
สรุป: ตอนนี้คุณต้องมีอย่างน้อย 7 “ถัง” สำหรับจัดวางงานทั้งหมด ได้แก่
- ถังขยะ
- ลิสต์ Someday/Maybe
- กองอ้างอิง (Reference)
- ลิสต์ Project
- ลิสต์ Next Action
- ลิสต์ Waiting For
- ปฏิทิน
ทบทวน
ถึงตอนนี้ คุณน่าจะมีระบบจัดการงานต่างๆ ให้เข้าที่เข้าทางแล้ว แต่ระบบนี้จะอยู่กับคุณไม่นาน คุณต้องทบทวนระบบอย่างสม่ำเสมอด้วย
แล้วคุณต้องทบทวนอะไรบ้าง และทบทวนตอนไหน?
สิ่งที่ต้องทวนทุกวัน
สิ่งที่คุณต้องทบทวนบ่อยที่สุดอย่างน้อยวันละครั้งก็คือปฏิทิน ตรวจดูให้ชัวร์ว่ามีรายการที่คุณต้องทำให้เสร็จในแต่ละวันครบหรือเปล่า
สิ่งต่อไปที่คุณต้องสนใจก็คือ ลิสต์ Next Action เพราะลิสต์นี้เป็นที่ที่คุณจะพบกับกองภาระที่ไม่ว่ายังไงก็ต้องทำให้เสร็จอยู่ดี ส่วนลิสต์ Waiting For, ลิสต์ Project และลิสต์อื่น ๆ ก็ควรได้รับการตรวจบ่อยเท่าที่จะทำได้ กันลืมครับผม
สิ่งที่ต้องทวนทุกสัปดาห์
เมื่อสิ้นสัปดาห์แล้ว คนส่วนใหญ่ (รวมถึงผมด้วย) จะพบว่าสิ่งที่คิดกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงนั้นต่างกันมาก แม้ว่าวางแผนไว้ดีเพียงใดก็ตาม คุณก็ไม่สามารถกำจัดความแตกต่างนี้ได้ ฉะนั้นคุณต้องแบ่งเวลาส่วนหนึ่งสำหรับทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้นทุกสัปดาห์ บันทึกภาระนี้เอาไว้ในปฏิทินของคุณด้วย
ลิสต์ทั้งหมดของคุณควรได้รับการทบทวนอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง (ในเวลาเดียวกันทุกสัปดาห์) การทำเช่นนี้จะช่วยให้มั่นใจได้ว่า คุณได้ดึงงานใหม่ๆ ทั้งหมดออกจากสมองนำเข้าสู่ระบบเรียบร้อยแล้ว
ระหว่างทบทวนจะเห็นว่า คุณให้เวลากับงานบางอย่างเยอะหรือไม่ก็น้อยเกินไป ข้อผิดพลาดเหล่านี้จะสอนให้คุณรู้จักตัวเองมากขึ้น และรอให้คุณแก้มือในสัปดาห์ต่อไป
ลงมือทำ
ก่อนที่คุณผู้อ่านจะลงมือทำตามลิสต์ Next Action ผมขอเสนอเกณฑ์ 4 ข้อดังต่อไปนี้ตามลำดับ เพื่อให้คุณตัดสินใจเลือกงานที่ควรจะทำต่อไปได้ถูกต้อง ได้แก่
- สถานการณ์แวดล้อม
- เวลาที่ใช้
- พลังงานที่ต้องใช้
- ความสำคัญ
สถานการณ์แวดล้อม
สถานการณ์แวดล้อมมีความสำคัญเนื่องจากงานบางอย่างสามารถทำได้เฉพาะในบางสถานการณ์เท่านั้น เช่น ถ้าคุณติดอยู่ที่ไหนสักแห่งที่ต่อเน็ตไม่ได้ (เช่น บนเครื่องบิน) คุณต้องเลือกทำงานประเภทออฟไลน์เท่านั้น การติดป้ายกำกับให้กับงานในลิสต์ Next Action จะช่วยให้คุณเห็นงานที่ทำได้ในสถานการณ์นั้นๆ ได้ชัดเจนขึ้น
เวลาที่ใช้
ในลิสต์ Next Action ของคุณ บางงานอาจจะใช้เวลา 10 นาที บางงานใช้เวลานานกว่า 1 ชั่วโมง เกณฑ์นี้จะมีความสำคัญขึ้นมา เมื่อคุณประชุมเสร็จก่อนกำหนด 20 นาทีหรือเครื่องบินดีเลย์ 30 นาที การทำความเข้าใจว่างานไหนต้องใช้เวลาเท่าไหร่ จะช่วยเพื่มโอกาสในการจัดการงานเหล่านี้ได้ดีมากขึ้นทีเดียวครับ
การลงแรง
มีงานวิจัยหลายชิ้นพิสูจน์ออกมาแล้วว่า แรงทำงานของคุณมีขึ้นมีลงในแต่ละช่วงเวลา งานบางอย่างต้องใช้แรงในการโฟกัสเยอะและจะดำเนินการได้ก็ต่อเมื่อคุณยังมีแรงสะสมอยู่ อย่างตัวผมเองจะมีแรงเยอะที่สุดก็ตอนเพิ่งลุกจากเตียง ดังนั้นผมเลยจัดการกับงานที่ต้องใช้ความคิดอย่างการเขียน Blog ในช่วงเช้ามืด พอใกล้หมดวัน แรงของผมจะอยู่ระดับต่ำสุด ผมเลยเลือกทำงานที่ใช้แรงน้อยๆ เช่น เช็คอีเมล ดูหนัง อ่านการ์ตูน ฯลฯ
ลองเช็คตัวเองดูว่ามีแรงทำนู่นนี่เยอะสุดตอนไหนนะครับ แล้วเลือกงานจากลิสต์ตามความเหมาะสม แล้วคุณจะจัดการกับงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ลำดับความสำคัญ
งานแต่ละชิ้นมีความสำคัญไม่เท่ากัน การเรียงลำดับความสำคัญอาจจะเป็นสิ่งที่ยากที่สุดในระบบนี้ ผมขอทิ้งประโยคทองไว้ว่า
งานที่มีความสำคัญที่สุดคืองานที่ทำแล้วเกิดประโยชน์กับตัวคุณมากกว่างานอื่น
อย่างไรก็ตาม ความแม่นยำในการเรียงลำดับนั้นเกิดจากการทบทวน เมื่อคุณทบทวนบ่อยๆ คุณก็จะตีความงานต่างๆ ได้ทะลุปรุโปร่งและบริหารมันได้อย่างไร้ที่ติ
สรุปส่งท้ายก่อนวางหนังสือ Getting Things Done
ขั้นตอนทั้ง 5 เป็นกระบวนการที่สำคัญอย่างยิ่งในการเพิ่ม Productivity ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้คุณประสบความสำเร็จในชีวิต อย่าพยายามทำทั้ง 5 ขั้นให้เสร็จพร้อมกันในทีเดียวเลยครับ เพราะมันจะทำให้ระบบชีวิตของคุณยุ่งเหยิงและนำความเครียดมาให้
ระบบนี้ไม่มีอะไรตายตัว ไม่มีผิด ไม่มีถูก ขอให้ผลลัพธ์สุดท้ายที่ได้ช่วยให้คุณมี Productivity เพิ่มขึ้นก็พอแล้ว หากคุณยังไม่เคยสร้างระบบอะไรจริงๆ จังๆ ในชีวิต ผมแนะนำระบบนี้เลย คุณอาจจะลองใช้โปรแกรมซอฟต์แวร์ช่วยก็ได้ (อย่างที่บอก ผมแนะนำให้ใช้ Asana) ถ้าคุณไม่ชอบเทคโนโลยี จะใช้สมุดโน้ตแทนก็ได้ หรือ Post-it หาสิ่งที่คุณชอบและใช้งานถนัดมือให้เจอ เราวางโร้ดแม็ปไว้ให้คุณแล้ว แต่ความสำเร็จจะเกิดขึ้นหรือไม่ขึ้นอยู่กับตัวคุณเท่านั้นเองครับ
ก่อนจะปิดหน้าต่างนี้ ผมอยากให้คุณหยิบกระดาษกับดินสอ แล้ววาดรูปแผนผังแบบในรูปด้านบนด้วยตัวเอง ในภาษาที่ตัวเองเข้าใจ และให้นำแผนผังนี้ไปใช้แบบจริงจัง
May the force be with you!!
หนังสือที่อาจจะน่าสนใจกว่าเล่ม Getting Things Done
นอกจากหนังสือเล่มนี้ บิงโกมีหนังสือและบทความดีๆ อีกมากที่คุณอาจสนใจ ดังนี้
- คนที่สำเร็จไม่พยายามทำทุกสิ่งพร้อมกัน แต่เลือกที่จะพุ่งเป้าไปที่สิ่งเดียวที่หวังผลได้มากที่สุด อ่านวิธีคิดของบุคคลเหล่านี้ได้ใน สรุปหนังสือ The One Thing
- ถ้าคุณอยากแยกสิ่งสำคัญออกจากสิ่งไม่จำเป็นอย่างถูกวิธี ตามไปอ่านได้ใน สรุปหนังสือ Essentialism
- บิงโกมีหนังสือ แค่ใช้เวลาเป็น ไม่ต้องเก่งก็ไปได้ไกลกว่า รวมเคล็ดลับความสำเร็จของมหาเศรษฐี นักกีฬาโอลิมปิก นักเรียนหัวกะทิ และนักธุรกิจชั้นนำรวมกว่า 200 คนที่รู้กันเฉพาะในหมู่พวกเขา ซึ่งช่วยให้มีเวลาเหลือเฟือและสร้างผลงานที่ยอดเยี่ยม หนังสือเล่มนี้จะเผยความลับเหล่านั้นแบบหมดเปลือก พร้อมแนะวิธีนำมันมาใช้กับตัวคุณให้ได้ผล (สั่งซื้อออนไลน์ในเว็บนี้ได้เลยนะครับ)
Pingback: สรุปหนังสือ Manage Your Day-To-Day วิธีเพิ่มไอเดียสุดเจ๋ง ในทุกวันของชีวิต
Pingback: สรุปหนังสือ The Miracle Morning มหัศจรรย์ยามเช้าเปลี่ยนชีวิต - สำนักพิมพ์บิงโก
Pingback: สรุปหนังสือ The 7 Habits of Highly Effective People เปลี่ยนชีวิตด้วย 7 อุปนิสัย
Pingback: สรุปหนังสือ How Google Works: วิธีทำงานที่ CEO กูเกิลอยากสอนคุณ
Pingback: สรุปหนังสือ What Got You Here Won't Get You There: วางตัวแบบไหนได้ใจคน
Pingback: สรุปหนังสือ Digital Minimalism ใช้ชีวิตแบบมินิมอลบนโลกดิจิตอล
ขอบคุณมากครับ