วันนี้ผมจะมาสรุปสาระสำคัญคร่าวๆ ของหนังสือ Free ให้ทุกท่านได้อ่านกันครับ เพียงใช้เวลา 5 นาทีกับบทความนี้แล้วมุมมองธุรกิจของคุณผู้อ่านจะกว้างขึ้น ถ้าเป็นไปได้ผมอยากส่งต่อหนังสือเล่มนี้ให้เจ้าหน้าที่รัฐได้อ่านกัน รบกวนคุณผู้อ่านทุกท่านช่วยแชร์บทความนี้ให้ด้วยนะครับ
เมื่อตลาดดิจิตอลถือกำเนิดขึ้น วิถีการทำธุรกิจในศตวรรษที่ 21 ก็เปลี่ยนโฉมไปในแบบที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน ความเข้าใจเกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์ดั้งเดิมเริ่มกลับหัวกลับหาง จึงถึงเวลาแล้วที่เราทุกคนต้องเปิดรับกระบวนการคิดใหม่ๆ ต้องเข้าใจว่าเงินจะเข้าออกในรูปแบบไหนอย่างถ่องแท้ และ คุณจะใช้ประโยชน์จาก “ของฟรี” ได้อย่างไร?
หากทำให้ผลิตภัณฑ์ดูเข้าถึงยาก ผู้ผลิตก็จะทำเงินได้มากขึ้น
ในช่วงทศวรรษที่ 1930 ทุกค่ายเพลงต่างประสบปัญหาเหมือนกัน เมื่อวิทยุกลายเป็นของใช้ประดับครัวเรือนของคนหลายแสนคนทั่วอเมริกา ผู้คนเริ่มฟังเพลงฟรีผ่านคลื่นวิทยุมากกว่ายอมจ่ายเงินซื้อแผ่นเสียงและดูคอนเสิร์ต
หลายธุรกิจกังวลว่า ถ้าผลิตภัณฑ์ของตนสามารถหาบริโภคได้ฟรี ๆ ลูกค้าจะไม่จ่ายเงินเพื่อซื้อผลิตภัณฑ์ของตนอีก ค่ายเพลงเลยพยายามสร้างกำแพงให้คนเข้าถึงผลงานยากขึ้น บางค่ายไม่อนุญาตให้สถานีวิทยุนำเพลงไปออกอากาศ โดยคิดว่าวิธีนี้จะเพิ่มมูลค่าให้กับการแสดงคอนเสิร์ตของศิลปินในสังกัด
กลยุทธ์ “ควบคุม Supply เพื่อกระตุ้น Demand” นั้นฟังดูเป็นตรรกะทางธุรกิจที่เข้าท่าเลยทีเดียว
วิธีนี้ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ธุรกิจเพลงเท่านั้น อุตสาหกรรมอื่น ๆ ต่างก็ตระหนักเช่นเดียวกัน บรรดาธุรกิจเล็กใหญ่ต่างก็แห่กันเพิ่มความยากในการเข้าถึงสินค้าโดยใช้เครื่องมือที่ชื่อว่า ลิขสิทธิ์ (Copyright) นั่นเอง
การจดลิขสิทธิ์ช่วยป้องกันไม่ให้บริษัทอื่นผลิตสินค้าหน้าตาเหมือนกันออกมาในตลาด ทำให้หลีกเลี่ยงการแข่งขันได้ในระดับหนึ่ง ตอนที่บริษัท Microsoft ปล่อยซอฟต์แวร์ MS Office ออกมา ก็ไปจดลิขสิทธิ์เอาไว้ทำให้ Microsoft เป็นผู้ผูกขาดอุตสาหกรรมนี้ ผู้บริโภคที่ต้องการใช้ซอฟต์แวร์ทำเอกสารต้องจ่ายเงินตามที่ Microsoft กำหนด
“ความหายาก” กระตุ้นต่อมความอยากได้ในตัวผู้บริโภคมากขึ้น และผู้ผลิตก็สามารถหลีกเลี่ยงการแข่งขันได้ นี่คือหลักคิดในการทำธุรกิจในศตวรรษที่ 20
ของฟรีไม่มีในโลก
การแจกของฟรีเป็นกลยุทธ์การตลาดที่เจ้าของกิจการนิยมใช้ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน
ผมขอย้อนกลับไปในยุคคาวบอย ประมาณปี 1800 ในช่วงกลางวัน เจ้าของบาร์ในนิวออร์ลีนแทบทุกแห่งมักจะนั่งตบยุงเพราะไม่มีลูกค้า พวกเขาจึงคิดวิธีดึงดูดนักดื่มด้วยการเสนอกับแกล้มฟรีเพื่อล่อให้นักดื่มเข้าร้าน และควักกระเป๋าตังซื้อเหล้าเพิ่ม
ถ้าคุณผู้อ่านลองสังเกตของฟรีรอบตัวจะเห็นว่า สินค้าฟรีมักจะต้องใช้คู่กับสินค้าอีกอย่างหนึ่งเสมอ ซึ่งสินค้าที่ว่านั่นต้องจ่ายเงินซื้อมา เช่น เครื่องโกนหนวดของ Gillette หากคุณไม่ซื้อใบมีด ที่โกนหนวดที่คุณถืออยู่ก็ไร้ค่าทันที ราคาของสินค้าฟรีจะแอบแฝงอยู่ในสินค้าอีกตัวนึงตลอดเวลา
แม้จะขาดทุนจากการแจกฟรี บริษัทก็สามารถชักจูงให้ผู้บริโภคมาละลายทรัพย์กับสินค้าตัวอื่นได้ ค่ายมือถือยักษ์ใหญ่ในไทยทุกเจ้าต่างก็ใช้กลยุทธ์นี้เพื่อแย่งชิงลูกค้ากันอย่างบ้าระห่ำ ด้วยการแจกมือถือฟรีหรือซิมฟรี เพื่อแลกกับสัญญาพ่วงเก็บค่าใช้บริการสัญญาณมือถือและอินเตอร์เน็ตรายเดือน
เจ้าของสถานีวิทยุ นิตยสาร และหนังสือพิมพ์ ก็ใช้กลยุทธ์นี้เหมือนกัน พวกเขาจ้างพนักงานมาสร้างคอนเทนต์ให้ผู้คนได้เสพแบบฟรีๆ แล้วคุณผู้อ่านเคยสงสัยไหมครับว่า เจ้าของธุรกิจพวกนี้เอาเงินที่ไหนมาจ้างพนักงาน?
คำตอบคือ พวกบริษัทโฆษณาและผู้ผลิตสินค้าต่างๆ ครับ พวกมือที่สามเหล่านี้ออกเงินค่าใช้จ่ายเหล่านี้แทนคนฟัง คนดู และคนอ่าน เพื่อต้องการเข้าถึงกลุ่มลูกค้า พูดอีกนัยหนึ่งคือ สถานีวิทยุ นิตยสาร และหนังสือพิมพ์กำลัง “ขายคนเสพคอนเทนต์” ให้กับพวกมือที่สาม
โลกธุรกิจไม่มีของฟรีหรอกครับ ยังไงเราก็ต้องจ่ายเงินไม่ทางใดก็ทางหนึ่งอยู่ดี ไม่ว่าจะ
- จ่ายผ่านผลิตภัณฑ์ควบคู่ (ใบมีดโกน)
- จ่ายค่าบริการภายหลัง (ค่าโทรศัพท์)
- ให้มือที่สามจ่ายแทน (สปอนเซอร์)
สินค้าแจกฟรีอาจทำให้ผู้บริโภคประเมินคุณค่าสินค้าต่ำลง
เวลาผมไปเดินห้างก็มักจะเห็นพนักงานยืนแจกขนมขบเคี้ยวให้ทานฟรีอยู่บ่อยๆ ด้วยสัญชาติญาณคนรักของฟรี ผมก็หยิบขนมมาโดยไม่คิดหรอกว่าอยากกินหรือเปล่า เพราะสมองของผมแปลคำว่า “ฟรี” = ไม่มีความเสี่ยงด้านการเงินมาเกี่ยวข้อง แม้ว่าขนมจะไม่ถูกปาก ผมก็ไม่เสียประโยชน์อะไร จริงไหมครับ?
บริษัทต่างๆ เลยใช้หลักจิตวิทยานี้ในการทำการตลาด
การแจกสินค้าฟรีทำให้สินค้าได้รับความสนใจมากขึ้น แต่ก็อาจส่งผลข้างเคียง ผู้บริโภคอาจจะประเมินคุณค่าสินค้าต่ำลงเพราะผู้บริโภคไม่ได้ใช้แรง เงิน หรือเวลาในการตัดสินใจกับสินค้านั้นเลย
การที่ผู้บริโภคจ่ายเงินเพื่ออะไรบางอย่าง หมายความว่าพวกเขาต้องใช้กระบวนการตัดสินใจและชั่งน้ำหนักความคุ้มค่าแล้ว จึงควักเงินออกจากกระเป๋าตังค์ เลยไม่แปลกที่ผู้บริโภคจะใส่ใจกับสินค้าตัวนั้นมากขึ้น
นี่คือเหตุผลที่ว่าทำไมพื้นที่โฆษณาในนิตยสารเสียเงิน ถึงแพงกว่าในนิตยสารฟรีถึง 5 เท่า ถ้าผู้อ่านเลือกที่จะจ่ายเงิน แสดงว่าผู้อ่านให้คุณค่ากับสิ่งนั้นและมีโอกาสเปิดใจกับโฆษณาในนั้นมากกว่า แต่จำนวนผู้อ่านที่ยอมควักเงินซื้อนิตยสารมีไม่เยอะหรอกนะครับ
การได้อย่างเสียอย่างนี้เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ในศตวรรษที่ 20 กลยุทธ์แจกฟรีสามารถดึงดูดฃผู้บริโภคจำนวนมากได้ก็จริง แต่พวกเขาจะไม่ได้เข้ามามีส่วนร่วมอะไรเท่าไหร่ ถ้าเปลี่ยนมาเรียกเก็บเงินค่าผลิตภัณฑ์ บริษัทก็จะเข้าถึงผู้บริโภคน้อยกว่า แต่ผู้บริโภคก็จะเข้ามามีส่วนร่วมในผลิตภัณฑ์นั้นๆ มากกว่า
ราคาสินค้าดิจิตอลจะลดลงเหลือ 0 บาทจริงเหรอ!?
สินค้าดิจิตอลในที่นี้ไม่ได้หมายถึง กล้องดิจิตอลหรือชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ที่จับต้องได้นะครับ แต่ผมหมายถึงพวกโปรแกรมซอฟต์แวร์ ไฟล์เพลง ไฟล์ภาพหรือ E-book ที่จับต้องไม่ได้ต่างหาก
โดยทั่วไปแล้ว กว่าสินค้าจะถูกผลิตออกมา ต้องอาศัยเงินลงทุนเพื่อซื้อวัตถุดิบแล้วนำมาผ่านกระบวนการผลิตหลายขั้นตอนจนมีหน้าตาเหมือนกับที่เห็น แต่สินค้าดิจิตอลนั้นต่างออกไป เพราะสินค้าเหล่านี้คือชุดข้อมูลหลายๆ ชุดที่ประกอบกันเป็นคอนเทนต์ ขั้นตอนการผลิตก็ไม่ได้ยุ่งยากซับซ้อน แทบไม่ต้องใช้เงินเลย ทำให้ราคาของสินค้าดิจิตอลมีโอกาสที่จะเข้าใกล้ศูนย์มากขึ้นเรื่อยๆ
ทำไมราคาสินค้าดิจิตอลจะต่ำลงจนเข้าใกล้ศูนย์?
- เทคโนโลยีที่จำเป็นในการจัดเก็บไฟล์และประมวลผลข้อมูลมีประสิทธิภาพสูงขึ้นและถูกกว่าเมื่อก่อนหลายเท่า ปัจจุบันทุกคนสามารถเป็นเจ้าของสมาร์ทโฟนได้ เช่นเดียวกับการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตในปัจจุบันที่เร็วและถูกกว่าแต่ก่อนมากๆ
- ผลิตภัณฑ์ดิจิตอลสามารถทำซ้ำได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่ม ไม่ว่าคุณจะทำ 1 ชิ้นหรือ 2 ล้านชิ้น ค่าใช้จ่ายก็เท่ากัน
- อินเทอร์เน็ตมอบตลาดเสรีให้กับเรา ผู้ผลิตทุกเจ้าสามารถวางขายสินค้าดิจิตอลแบบไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ใครก็ตามที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ก็สามารถเลือกซื้อสินค้าได้ นี่เป็นกลไกที่ขับเคลื่อนให้ตลาดมีการแข่งขันสูง ทำให้ผู้ผลิตต้องควบคุมราคาให้ต่ำที่สุดเท่าที่จะทำได้ (จนใกล้เคียงกับต้นทุนขั้นต่ำในการผลิตก็คือ 0 บาทนั่นเอง)
ปัจจัยทั้ง 3 อย่างนี้จะผลักดันให้ราคาผลิตภัณฑ์ดิจิตอลลดลงเป็น 0 ในที่สุด
อินเทอร์เน็ตสร้างเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ที่เรียกว่า Gift Economy
ถ้าคุณผู้อ่านเคยเขียนหรืออ่านบทความในเว็บ Blog หรือในวิกิพีเดีย คุณผู้อ่านจะรู้ว่าการเขียนบทความไม่ได้เป็นเรื่องของนักข่าวเท่านั้น อินเทอร์เน็ตเป็นแพลตฟอร์มที่ช่วยให้นักเขียนมือสมัครเล่นนับล้านสามารถสร้างสรรค์และแชร์คอนเทนต์ เพื่อเชื่อมโยงกับผู้คนที่มีความชื่นชอบเหมือนกันได้
ผู้ที่คลั่งไคล้ในการทำภาพยนตร์อาจต้องผิดหวังที่ไม่มีคนที่มีความชอบแบบเดียวกันในละแวกบ้านเลย แต่เมื่อเขาได้เผยแพร่บทความให้ความรู้เชิงลึกเกี่ยวกับภาพยนตร์ในเว็บไซต์ IMDb ก็สามารถเข้าถึงคอหนังนับล้านได้ ไม่มีใครจ่ายเงินค่าเขียนบทความให้เขา แต่สิ่งที่เขาจะได้กลับไปก็คือ “ความพึงพอใจ”
โดยปกติแล้ว ผู้คนจะยอมจ่ายเงินให้กับสิ่งของที่มีคุณค่าคุ้มกับเงินที่จ่ายไป แต่ตรรกะนี้ใช้ไม่ได้กับระบบเศรษฐกิจแบบใหม่ที่มีชื่อเรียกว่า Gift Economy หรือระบบเศรษฐกิจแบบการให้
ในทุกระบบเศรษฐกิจ สิ่งของต่าง ๆ จะมีคุณค่าก็ต่อเมื่อมันมีจำนวนไม่เพียงพอและหายาก แต่ในระบบเศรษฐกิจแบบการให้ คอนเทนต์และข้อมูลมากมายมีให้เสพบนออนไลน์ แต่สิ่งที่หายากคือความสนใจต่อคอนเทนต์นั้นๆ บล็อกที่ไม่มีใครอ่านก็คือบล็อกที่ไม่มีคุณค่า ดังนั้น ในเศรษฐกิจแบบใหม่นี้ มูลค่าของผลิตภัณฑ์จะถูกกำหนดโดยความสนใจที่ชาวเน็ตมอบให้ในรูปแบบจำนวน Like, Followers, Rating และ Retweet
การถูกละเมิดลิขสิทธิ์เป็นรสชาติของชีวิต
ผลงานของนักร้องเพลงป๊อปชาวจีนอายุ 21 ปีที่ชื่อ Xiang Xiang ถูกดาวน์โหลดมากกว่า 4 ล้านครั้ง แต่เธอไม่ได้รับเงินกลับมาเลยสักหยวนเพราะทุกการดาวน์โหลดนั้นเป็นแบบละเมิดลิขสิทธิ์
การคัดลอกและแจกจ่ายผลิตภัณฑ์ฟรีๆ โดยไม่ได้รับอนุญาตเกิดขึ้นจากตลาดในศตวรรษที่ 21 เนื่องจากผลิตภัณฑ์ดิจิตอลสามารถคัดลอกได้โดยแทบไม่ต้องใช้ต้นทุน ผู้บริโภคมักเสพเพลง วิดีโอ และซอฟต์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ฟรีๆ
เพลงทั้งหมดที่ขายในประเทศจีนแบบถูกลิขสิทธิ์มีประมาณ 5% เท่านั้น ศิลปินชาวจีนเรียนรู้ที่จะยอมรับมัน เพราะสุดท้ายเพลงที่ปล่อยออกไปก็ช่วยขยายฐานแฟนคลับของศิลปิน
แม้ว่าเพลงจะหลุดออกไปฟรีๆ แต่ Xiang Xiang ก็ยังทำกำไรจากเพลงได้ เพราะสี่ล้านคนที่ละเมิดลิขสิทธิ์กลายเป็นแฟนเพลงของเธอ เธอสามารถหารายได้จากการเป็นพรีเซนเตอร์ รับงานโฆษณา และการทัวร์คอนเสิร์ต
แม้ว่าศิลปินตะวันตกยังคงต่อสู้กับการละเมิดลิขสิทธิ์อยู่บ้าง แต่บางคนก็ปรับตัวเปลี่ยนมานำเสนอผลงานของตนเองฟรีๆ เช่นกัน คณะตลก Monty Python เป็นตัวอย่างที่ดี พวกเขาเอือมกับคลิปคุณภาพต่ำที่ถูกอัพโหลดบน Youtube แบบละเมิดลิขสิทธิ์ เลยตัดสินใจทำช่องของตัวเองแล้วเผยแพร่ผลงานทั้งหมดแบบฟรีๆ
วิธีนี้ไม่เพียงไปหน่วงพวกละเมิดลิขสิทธิ์ แต่ยังเป็นประโยชน์ต่อ Monty Python ด้วย เพราะคลิปออนไลน์คุณภาพสูงกระตุ้นความต้องการผลิตภัณฑ์ของผู้ชมได้เป็นอย่างดี
3 เดือนต่อมา ยอดขายแผ่น DVD ของ Monty Python พุ่งทะยานติดอันดับ 1
การละเมิดลิขสิทธิ์ในสินค้าดิจิตอล เป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่บริษัทหรือศิลปินที่หลักแหลมก็จะหาวิธีทำกำไรจากเหตุการณ์นี้จนได้นั่นแหละครับ
แจกผลิตภัณฑ์ฟรีเพื่อสร้างฐานผู้ใช้
คนส่วนใหญ่รู้จัก Google ในฐานะบริษัทที่มีนวัตกรรมเป็นเลิศ แต่ไม่ค่อยมีใครรู้ว่าทุกวันนี้ Google จ่ายค่าจ้างให้พนักงานหลักสิบล้าน เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ แล้วนำไปแจกฟรี แน่นอนว่า Google ไม่ได้หวังรายได้จากการขายผลิตภัณฑ์ แต่ต้องการสร้างและเก็บฐานข้อมูลผู้ใช้จำนวนมาก
เมื่อเราใช้บริการ Google Maps, Gmail, Google Chrome ฯลฯ เราก็ต้องอนุญาติให้ Google เข้าถึงข้อมูลการใช้งาน จากนั้น Google ก็จะเก็บข้อมูลไลฟ์สไตล์ ความสนใจ และพฤติกรรมออนไลน์ของเราไปพัฒนาผลิตภัณฑ์ตัวถัดไป
แล้ว Google ทำเงินจากไหน?
แม้ว่าผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ของ Google เป็นของฟรี แต่ Google ก็รู้จักนำข้อมูลผู้ใช้ไปวิเคราะห์อย่างชาญฉลาดและสร้างช่องทางโฆษณาออนไลน์ที่มีประสิทธิภาพสูง จนผู้ประกอบการทุกคนบนโลกยอมจ่ายเงินให้กับบริการนี้มากถึง 2 หมื่นล้านเหรียญต่อปี
การสร้างฐานลูกค้าเพื่อที่จะออกแบบผลิตภัณฑ์ให้ดีขึ้นแล้วสร้างรายได้ภายหลัง เป็นหลักการที่บริษัทดิจิตอลทุกขนาดสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ บริษัทดิจิตอลที่ฉลาดจะสร้างโมเดลธุรกิจโดยมีของ “ฟรี” มาเกี่ยวข้องเสมอ เพราะพวกเขารู้ว่าความนิยมสำคัญพอๆ กับรายได้ ข้อมูลผู้ใช้ที่ได้รับของ “ฟรี” ช่วยให้ Google รู้ว่าควรเก็บเงินจากตรงไหน
สินค้าพรีเมียมมีดี
โมเดลธุรกิจของ Spotify กับ Tinder มีอะไรเหมือนกันบ้างครับ? พอจะนึกออกไหม?
เฉลยล่ะนะครับ ผลิตภัณฑ์ของทั้งคู่มี 2 เวอร์ชันคือ เวอร์ชันฟรีและเวอร์ชันพรีเมียม ถ้าคุณอยากฟังเพลงแบบไม่มีโฆษณาคั่นบน Spotify หรืออยากกดไลค์สาวๆ ได้ไม่จำกัดบน Tinder ก็ต้องเสียตังเพื่ออัพเกรดเป็นเวอร์ชันพรีเมียม
บริษัทเหล่านี้รู้ว่าการสร้างฐานลูกค้าจำนวนมากมีความสำคัญไม่น้อย พวกเขาเลยปล่อยผลิตภัณฑ์เวอร์ชันฟรีให้ทุกคนใช้ แล้วค่อยเรียกเก็บเงินจากลูกค้าที่ต้องการคุณสมบัติพิเศษเพิ่มเติมจากเวอร์ชันฟรีได้
Arduino คือตัวอย่างบริษัทผลิตฮาร์ดแวร์ที่นำโมเดลธุรกิจนี้ไปใช้ เว็บไซต์ Arduino มีพิมพ์เขียวให้ดาวน์โหลดฟรีๆ เพื่อกระตุ้นให้นักประดิษฐ์สร้างผลงานด้วยตัวเองและแบ่งปันเคล็ดลับและประสบการณ์บนกระทู้ชุมชนออนไลน์ จากนั้น Arduino ก็เสนอขายอุปกรณ์สำเร็จรูปที่คุณเองก็สร้างได้หากทำตามพิมพ์เขียว (ที่แจกให้อ่านฟรี) แต่ Arduino รู้ว่านักประดิษฐ์ส่วนใหญ่ยินดีที่จะจ่ายเงินเพื่อประหยัดเวลา
มองในมุมเจ้าของธุรกิจ การเสนอขายสินค้าทั้งเวอร์ชันฟรีและแบบพรีเมียม ทำให้สร้างกลุ่มผู้ใช้จำนวนมากและทำกำไรได้ในที่สุด
มองในมุมลูกค้า สินค้าเวอร์ชันฟรีจะช่วยให้พวกเขารู้จักกับผลิตภัณฑ์ ก่อนจะตัดสินใจซื้อเวอร์ชันอัพเกรดได้
เรียกว่าได้ทั้งสองฝ่ายล่ะครับ
สรุปส่งท้ายก่อนวางหนังสือ Free
แนวคิด “ของฟรี” เป็นเพียงแค่เครื่องมือทางการตลาดเท่านั้น แต่หลังจากการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตกลายเป็นปัจจัยที่ 5 และเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ “ของฟรี” จึงกลายเป็นส่วนหนึ่งของโมเดลธุรกิจในยุคนี้ไป ไม่ช้าก็เร็วทุกบริษัทจะต้องปรับโมเดลธุรกิจของตัวเอง
หากคุณผู้อ่านเป็นผู้ประกอบการ หลังจากอ่านบทความนี้จบ ผมแนะนำให้ลองคิดดูเล่นๆ ว่าผลิตภัณฑ์ของตัวเองสามารถแบ่งหรือลดทอนคุณสมบัติบางตัว แล้วปล่อยให้ผู้บริโภคใช้ฟรีได้บ้างหรือไม่ จากนั้นค่อยเรียกเก็บเงินกับรุ่นพรีเมียมที่มีคุณสมบัติพิเศษเพิ่มเติม นอกจากจะได้แฟนคลับเพิ่มแล้วยังทำกำไรได้อีก อย่าลืมนำไปใช้กันนะครับ
หนังสือแนะนำเพิ่มเติม
กลยุทธ์ “ของฟรี” ในบทความนี้ เป็นหนึ่งในกลยุทธ์สำหรับผู้ที่เริ่มต้นธุรกิจมาซักพักแล้ว และกำลังหาทางทำกำไรเพิ่ม แต่ถ้าคุณผู้อ่านยังไม่เคยแตะเรื่องการลงทุนมาก่อนเลยและไม่รู้จะเริ่มที่ตรงไหนดี สำนักพิมพ์บิงโกเราขอนำเสนอหนังสือ เปลี่ยนฝันกลางวัน ให้ดังเป็นพลุแตก หรือ The Idea in You ที่ไม่เพียงช่วยให้คุณผู้อ่านเริ่มย่างเข้าสู่วงการธุรกิจสตาร์ทอัพ (SMEs) ได้อย่างมั่นใจ แต่ถ้าใครไม่มีแม้แต่ “ไอเดียในการหาเงิน” หนังสือเล่มนี้ก็จะช่วยด้วย! เรียกว่านำไปต่อยอดได้ครั้งแล้วครั้งเล่า
Martin Amor และ Alex Pellew ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ ยังเป็นผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของบริษัทชื่อดังระดับโลกอีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น Nike, Samsung, Nestle และอีกมากมาย พวกเขามีเคล็ดลับอะไรเก็บงำเอาไว้กันนะ?
Pingback: สรุปหนังสือ Everything Store: Amazon ร้านขายของออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก
Pingback: สรุปหนังสือ The Long Tail เปิดกรุขุมทรัพย์ด้วยกลยุทธ์การตลาดหางยาว